เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง นักบริหารความเท่และแตกต่าง...ที่เป็นจริง

19 มี.ค. 2559 | 02:30 น.

ดีเจสาวเสียงแหบเสน่ห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานาน "เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง" จากการเป็นผู้บริหารคลื่นวิทยุ Get 102.5, 103.5 F.M.ONE และ Love Radio 104.5

ของ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ คอมมูนิเคชั่น เนตเวิร์ค จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการ เธอได้ขยับขยาย ย้ายตัวเอง มาทำหน้าที่เดิม คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตูดิโอ 888 จำกัด บริษัทที่เธอก่อตั้งขึ้นเอง
 

ผู้หญิงเก่งคนนี้ เคยผ่ายงานทั้งในบริษัทโฆษณา อ่านสปอตโฆษณาโทรทัศน์-วิทยุ เป็นพิธีกร เล่นละคร หลังจบปริญญาตรี ด้านกราฟิกดีไซน์ จาก London College of Printing ประเทศอังกฤษ และเริ่มจัดรายการวิทยุตั้งแต่ปี 2532 และนี่คือครั้งแรกที่เธอผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยการลงทุนร่วมกับเพื่อน โดยเธอทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การยื่นประมูลคลื่น จนถึงมาจัดตั้งออฟฟิศ สร้างห้องสตูดิโอจัดรายการ จ้างพนักงาน รวมไปถึงการเจรจากับลูกค้าและเอเยนซี่เพื่อขายรายการ
 

การก้าวขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจ บริหารบริษัทของตัวเอง ในวัย 50 กว่าๆ ของ "พี่เปิ้ล" ไม่ใช่เรื่องง่าย และก็ไม่ใช่เรื่องยาก
 

"นี่เป็นครั้งแรกที่รู้วิธีการประมูล ไปซื้อใบประมูล กลับมาเขียนคอนเทนต์ แล้วกลับไปส่งให้เขา ไปยื่นซอง และอธิบายคอนเทนต์ให้เขาฟัง โชคดีที่เรามีบริษัท สตูดิโอ 888 ของตัวเองอยู่แล้ว เพราะลูกค้าจ้างเราทำคอนเสิร์ต ก็เลยใช้บริษัทนี้เลยในการยื่นประมูล"
 

นักบริหารในมาดสาวเท่นี้ บอกว่า เธอไม่เคยจับธุรกิจแบบเป็นเรื่องเป็นราว แม้สามีจะทำธุรกิจสร้างหนัง สร้างละคร เธอจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยประสานงานในบางครั้งเมื่อถูกร้องขอ แต่ปกติคือการบริหารคลื่นวิทยุในฐานะมือปืนรับจ้าง การได้ลงมาลุยทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก จึงต้องยอมรับว่ายากมาก ต้องคิดให้มากขึ้น ละเอียดขึ้น รอบคอบมากยิ่งขึ้น เพราะนั่นคือเงินลงทุนทั้งหมด เธอบอกว่า เคยคิดว่าจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองเหมือนกัน แต่ยังไม่ชัดเจนนัก

"เราไม่มีความพร้อมในแง่ของธุรกิจเลย แต่พี่เปิ้ลมองว่า คนที่พร้อมทุกอย่าง บางทีมันก็พร้อมไปนะ มันมีทุกอย่างแล้ว ก็เลยไม่ต้องกระตือรือร้น แต่ของพี่มันขาดหลายอย่าง มันเลยต้องกระตือรือร้น ความกระตือรือร้นมากับความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความเอาจริง...ขณะเดียวกันเราต้องไม่ทิ้งความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปบนคลื่น และต้องไม่ลืมผู้บริโภคที่มีช่องทางการรับฟังที่หลากหลาย...ในความไม่พร้อมของคนเรา เราต้องหาวิธีอื่น เราต้องกระตือรือร้น"

"พี่เปิ้ล" บอกชัดเจนเลยว่า ต้องรู้จักที่จะยอมรับในความไม่พร้อมของตัวเอง และเอาตรงนั้นมาคิดว่าจะปรับอย่างไร ถ้าการตลาดบอกว่า แบบนี้เขาทำงานไม่ได้ ก็ต้องมาคุยกับครีเอทีฟ ฝ่ายรายการ โดยการปรับต้องไม่ปรับจนเสียความเป็นตัวตนของคลื่นที่วางไว้ ต้องดูว่ามันขายของได้จริงๆ...ต้องคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ และทำในสิ่งที่เป็นไปได้ให้เป็นจริง เราอยากเปิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ไม่ทัน เราก็ไปทำ 15 กุมภาพันธ์แทน...เราต้องทำให้ได้ เราต้องคิดตลอดเวลาว่าเราทำได้ เราไม่ยอมแพ้ สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นได้

สิ่งหนึ่งที่ยังคงไว้อย่างเห็นได้ชัดของนักบริหารหญิงผู้นี้ คือ ความเท่ เก๋ และแตกต่าง ซึ่งเธอบอกว่า...เราต้องคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่ซ้ำ แล้วทำให้มันเกิดขึ้นจริง ความแตกต่างนั้นต้องเป็นไปได้ มันเท่ เก๋ และแมสพอ ต้องให้คนอื่นเขาเห็นด้วยว่ามันใช่

เป้าหมายในการสร้างธุรกิจวิทยุของตัวเองในครั้งนี้ "พี่เปิ้ล" ไม่ได้มองแบบสวยหรูว่า จะต้องเข้ามาสร้างกระแสให้คลื่นวิทยุกลายเป็นสื่อที่หอมหวานเหมือนเมื่อก่อน เธอเป็นนักบริหารที่ยอมรับความจริงว่า โลกของการสื่อสารเสียงเพลง มันมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพราะฉะนั้น คลื่นวิทยุคือสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ และต้องขยายให้ครอบคลุมตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ความหวังของเธอคือการสร้างให้คลื่นใหม่ 88.5 E-D-S (Everyday Station) ภายใต้แนวคิด "เพราะทุกวันคือวันพิเศษ" หลายเพลงเป็นคลื่นเพลงพิเศษสำหรับคนทำงาน และคนรักเสียงเพลง

หลังจากนั้น เธอยังมีแผนในใจที่จะเชื่อมโยงเสียงเพลงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ คอนเสิร์ต เมอร์เชนไดร์ฟจากสินค้าพิเศษของคลื่น หรือการสร้างเพลงแนวใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การเปิดค่ายเพลง แต่เป็นอะไรที่สื่อสารถึงผู้ฟังด้วยเสียงเพลงที่เธอรัก ผ่านรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย

และที่สำคัญคนทำเพลง คนฟังเพลง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ หรือสถานะใดๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น เธอเชื่อว่า ธุรกิจนี้ยังสามารถเดินหน้าไปได้ และยังอยู่กับคนฟังเพลงไปอีกนานเท่านาน เพียงแค่ผู้บริหารอย่างเธอ ต้องทำหน้าที่ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ถูกต้องตรงเป้า เท่านั้นเอง
 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559