SACICT ยกระดับนักหัตถศิลป์รุ่นใหม่

12 มี.ค. 2559 | 09:00 น.
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯเดินหน้าผลักดันผู้ผลิตงานหัตถกรรมรุ่นใหม่ เข้าร่วมอบรมสัมมนาเพิ่มศักยภาพ ทักษะเชิงพาณิชย์ หวังเติบโตจนสามารถแข่งขันในตลาดสากล ส่งเสริมเป็น Startup พร้อมสู่การแข่งขันในตลาดสากล

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เผยว่า การทำตลาดงานหัตถศิลป์ไทยที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนไทยและชาวต่างชาติในไทย โดยพิจารณาจากยอดขายผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยจากสมาชิกในจุดจำหน่ายทุกจุด ทั้งที่อาคารทำการ SACICT อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดสนามบินสุวรรณภูมิ และในห้างฯอมรินทร์พลาซ่า ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สูงเกิน 22% จากปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ 4 พันธมิตรหลัก ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คอมเกตเวย์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

สำหรับปีนี้ SACICT ยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญในเรื่องของการเพิ่มองค์ความรู้แบบเฉพาะทางเพื่องานศิลปหัตถกรรมไทย จัดแผนการอบรมบ่มเพาะให้กลุ่มสมาชิกงานหัตถศิลป์ในหลากหลายแนวทางตามความต้องการของแต่ละราย โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขามาให้การอบรมในเรื่องต่างๆ อาทิ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหนุนธุรกิจอย่างถูกต้อง โอกาสและช่องทางการตลาดหัตถกรรมไทยสู่ตลาดอังกฤษ (ยอดนำเข้างานผ้าทอจากไทยเป็นลำดับต้นๆ) ผลกระทบต่องานหัตถกรรมเมื่อเข้าสู่ยุค AEC การสร้างสรรค์งานหัตถกรรมให้ตอบโจทย์ตลาดปัจจุบัน

องค์ความรู้ด้านเทคนิคการย้อมครามและคุณสมบัติที่โดดเด่นของผ้าย้อมครามไทยที่ไม่เหมือนใคร การพัฒนาหัตถกรรมเพื่อความยั่งยืนทำได้อย่างไร กระบวนการผลิตงานหัตถกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้หัตถศิลป์ได้หรือไม่ และการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นต้น ทั้งนี้จะเริ่มต้นการเปิดอบรมในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2559 ระหว่างวันที่ 10-13 มีนาคมนี้ ที่ ไบเทค บางนา ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 2 หมื่นคน

ทั้งนี้ SACICT ไม่ได้แค่เพียงว่าจะเพิ่มพูนทักษะความเป็นนักการพาณิชย์มืออาชีพ และก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนกลับเข้าสู่กลุ่มงานฝีมือเท่านั้น ยังหวังผลที่จะร่วมเฟ้นหาผลักดันผู้ผลิต คิดค้นนวัตกรรมเพื่องานหัตถศิลป์รุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดได้ ยกระดับขีดความสามารถให้เป็น Startup สำหรับสมาชิกงานหัตถกรรมหรือผู้ที่สนใจและมีไอเดียงานฝีมือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการอบรมและสำรองที่นั่งในการเข้าอบรมที่สายงานพัฒนาศักยภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559