จีนเปิดฉากการประชุมสองสภาประจำปี 2559 เป้าหมายเติบโต 6.5-7.0% เน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

08 มี.ค. 2559 | 04:11 น.
จีนเปิดฉากการประชุมสองสภาประจำปี 2559 เป้าหมายเติบโต 6.5-7.0%  เน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ประเด็นสำคัญ

•จีนจัดการประชุม”สองสภา”ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 3 และ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 6.5-7.0 ชะลอลงจากปี 2558 ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งการตั้งเป้าหมายไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 6.5 นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะว่าในปี 2559 นี้โอกาสที่จะได้เห็นภาพเศรษฐกิจจีนตกต่ำหรือเกิดวิกฤตน่าจะมีน้อยมาก และทางการเองคงจะมีแผนรองรับหากพลวัตทางเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่คาด

•นอกจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ทางการจีนยังได้เผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพตามดุลยภาพใหม่ด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่นับว่าหยั่งรากลึกและฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอดอย่างปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Overcapacity)

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 0.5-2.5 บนสมมติฐานที่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเดือนถัดๆไป อย่างไรก็ดี หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีระดับต่ำต่อเนื่อง หรือดิ่งลงไปมากกว่านี้ และจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนแรกของปี 2559 ที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 (YoY) ส่งผลให้มีโอกาสที่จะต้องปรับประมาณการอีกครั้งในระยะข้างหน้า

เมื่อวันที่ 3 และ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา จีนได้เปิดฉากการประชุม “สองสภา” ประจำปี 2559 ซึ่งได้แก่ สภาประชาชนแห่งชาติจีน และสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน โดยการประชุมนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการบริหารประเทศของจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลจะประกาศแนวทางการดำเนินนโยบายและเป้าหมายต่างๆทางเศรษฐกิจ รวมถึงในครั้งนี้ทางการจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) พร้อมกันด้วย ทั้งนี้ จากแถลงการณ์ของทางการจีน รวมถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจประจำปีสะท้อนว่า จีนยังคงดำเนินแนวทางปฏิรูปเป็นแกนหลักในการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ โดยไม่เน้นการพึ่งพาการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในรูปแบบเดิมๆ อันสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมา

จีนสร้างความเชื่อมั่นว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2559 นี้น่าจะมีน้อยมาก

จากการประชุมในครั้งนี้ ทางการจีนได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 6.5-7.0 น้อยกว่าเป้าหมายในปี 2558 ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งในความเป็นจริงสามารถเติบโตได้ร้อยละ 6.9 ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายในปี 2559 ไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 6.5 นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะว่าในปีนี้โอกาสที่จะได้เห็นภาพเศรษฐกิจจีนตกต่ำหรือเกิดวิกฤตน่าจะมีน้อยมาก และทางการเองคงจะมีแผนรองรับหากพลวัตทางเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่คาด

ขณะที่ทางการตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 3.0 การสร้างงานใหม่ 10.0 ล้านตำแหน่ง และควบคุมอัตราการว่างงานในเขตเมืองให้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ดี สำหรับปี 2559 ทางการจีนไม่ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของทางการจีนต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่มีความไม่แน่นอนสูง และคาดว่าอุปสงค์ของโลกน่าจะอ่อนแอต่อเนื่องจากปี 2558 ที่การค้าระหว่างประเทศของจีนหดตัวถึงร้อยละ 8.0 พลาดจากเป้าหมายที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจต่างๆในปีนี้ สะท้อนภาพที่ทางการจีนกำลังพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาเพียงภาคการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก เป็นการพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังมากขึ้น โดยเป้าหมายการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในปี 2559 ลดลงจากร้อยละ 15.0 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 10.5 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขจริงในปี 2558 ที่ร้อยละ 10.0 ขณะที่เป้าหมายการขาดดุลงบประมาณได้เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 2.3 ของ GDP ในปี 2558 เป็นร้อยละ 3.0 ของ GDP ในปี 2559

นอกจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ทางการจีนยังได้เผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนตามดุลยภาพใหม่ (New Normal) ด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่นับว่าหยั่งรากลึกและฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนมาโดยตลอดอย่างปัญหาอุปทานส่วนเกิน (Overcapacity) ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองในการประชุมครั้งนี้ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการลงทุนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจีนที่มากเกินกว่าความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ ถ่านหิน และการผลิตกระดาษที่ส่งผลกระทบยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ Purchasing Managers Index (PMI) ภาคการผลิตของจีนที่ยังคงอยู่ในแดนหดตัว (ต่ำกว่าระดับ 50) ติดต่อกันหลายเดือนรวมถึงในเดือนล่าสุด (ก.พ. 2559) บวกกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ติดลบมานานถึง 47 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกินโดยการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยการปรับลด/ตัดทอนเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มออกจากห่วงโซ่อุปทาน พร้อมๆไปกับการยกระดับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิต น่าจะเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ตรงจุดมากกว่าการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินเพียงอย่างเดียวที่อาจไปกระตุ้นให้มีการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้นในที่สุด

สำหรับนัยยะต่อไทย จากนโยบายเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมา และสภาวะเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้น ผู้ประกอบการไทยต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความเสี่ยงภายใต้ต้นทุนที่รับได้ ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อาจเป็นการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ในจีน หรือมองหาตลาดในประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพเติบโตสูงอย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาทิ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และสปป.ลาว ส่วนในระยะปานกลางถึงระยะยาว ผู้ประกอบการไทยคงต้องมีการเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าจากจีน โดยผลิตสินค้าที่สอดรับกับพัฒนาการอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และรองรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขยายตัวของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มความสามารถในการประกอบธุรกิจข้ามประเทศ เช่น การศึกษากฎหมายเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และทักษะทางด้านภาษา เป็นต้น ทั้งนี้ ผลต่อภาคการส่งออกไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 0.5-2.5 บนสมมติฐานที่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเดือนถัดๆไป อย่างไรก็ดี หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงมีระดับต่ำต่อเนื่อง หรือดิ่งลงไปมากกว่านี้ และจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนแรกของปี 2559 ที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 (YoY) ส่งผลให้มีโอกาสที่จะต้องปรับประมาณการอีกครั้งในระยะข้างหน้า

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย