จีนหั่นเป้า GDP ปี 2016 ลงมาอยู่ที่ 6.5-7%

08 มี.ค. 2559 | 03:55 น.
จีนหั่นเป้า GDP ปี 2016 ลงมาอยู่ที่ 6.5-7%

Event

ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีน (National People’s Congress) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ได้ออกมาให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมถึงเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของปี2016 โดยรัฐบาลจีนได้ลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่ 6.5-7% อีกทั้ง ตั้งเป้าหมายให้รัฐบาลขาดดุลการคลังราว 2.18 ล้านล้านหยวน หรือ 3% ของ GDP ด้านธนาคารกลางจีนจะคงสภาพคล่องตลาดเงินให้เพียงพอ โดยตั้งเป้าให้ปริมาณเงินในระบบ (M2) ขยายตัว 13%YOY ถือเป็นการวางเป้าหมายด้านปริมาณเงินครั้งแรกของจีน

Analysis

รัฐบาลจีนพร้อมใช้มาตรการการคลังเชิงรุก การลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลงเหลือเพียง 6.5%-7% ในปี 2016 จะเปิดช่องทางให้รัฐบาลจีนเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนในปี 2016 ไม่ให้หดตัวเกิดคาด รัฐบาลจีนได้เตรียมดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายการขาดดุลการคลังไว้ราว 2.18 ล้านล้านหยวน หรือ 3% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ตั้งไว้ 2.3% โดยภายใต้การขาดดุลการคลังดังกล่าว รัฐบาลเตรียมใช้เงินงบประมาณสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมกว่า 2 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อคงสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ลดอัตราส่วนสำรองของธนาคาiพาณิชย์(Reserved Requirement Ratio: RRR) ลงอีก 50 bps มาอยู่ที่ 17%

การเดินหน้าแก้ไขปัญหาอุปทานล้นตลาดในภาคอุตสาหกรรมเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีนในปี 2016 รัฐบาลจีนได้วางนโยบายการปฏิรูปฝั่งอุปทาน “supply side reform”เป็นนโยบายหลักของปี 2016 โดยมุ่งเน้นไปที่การลดกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญหาด้านอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนักอย่างเหล็กและถ่านหิน ผ่านการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ยังเตรียมเดินหน้าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงจะมีการปล่อยให้บริษัทที่ดำเนินการขาดทุนและไม่มีประสิทธิภาพ (zombies companies) ล้มละลายมากขึ้น โดยการปฏิรูปดังกล่าวเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจจีน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของ GDP จะชะลอลงต่อเนื่อง อีกทั้งแนวโน้มการควบรวมกิจการหรือการปิด zombies companies จะทำให้เกิดการว่างงานในจีนจำนวนมาก ซึ่งจะกดดันการบริโภคในประเทศต่อไป

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการเติบโตของกิจการในภาคบริการซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ การปฏิรูปภายใต้ “supply side reform” ในปี 2016 รัฐบาลจีนมองว่าภาคการผลิตของจีนในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนักนั้นไม่ตรงกับความต้องการของอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้จึงเตรียมมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทในภาคบริการ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนของบริษัทขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนส าคัญของจีนต่อไปในอนาคต

Implication

ภาคอุตสาหกรรมจีนที่ชะลอลงจากการปฏิรูปจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในปี 2016 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่มีสัดส่วนกว่า 77% ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้  ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยยังคงไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัวลงยังส่งผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอื่นๆของไทย โดยเฉพาะอาเซียน-5 และ ญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแนวโน้มการเกิดการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในจีนจากการปฏิรูปบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพจะยิ่งกดดันการบริโภคในประเทศของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวของไทยทั้ยังขยายตัวได้ในปัจจุบัน

ในระยะยาวการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนไปสู่ภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศถือเป็นโอกาสสำคัญของไทย อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสเสนอสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ รวมถึงพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี เนื่องจาก จีนกำลังยกระดับการผลิตในประเทศของตัวเองออกจากการเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมหนัก โดยผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจและเติบโตไปพร้อมกับจีน ปัจจุบัน การบริโภคของจีน ยังสามารถขยายตัวได้สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในปี 2015 ที่ขยายตัว10.7%YOY อีกทั้ง การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนยังเติบโตต่อเนื่องที่กว่า66.6% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2015 นอกจากนี้ การบริโภคในจีนได้พัฒนาเข้าสู่รูปแบบ ecommerce มากขึ้น โดยการใช้จ่ายผ่าน e-commerce ของจีนขยายตัวโดยเฉลี่ยกว่า 46% ต่อปี ในช่วงปี 2012-2015  สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลในการมุ่งเน้นการบริโภคให้เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีของจีน

ที่มา:ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center)