กฎหมายกองทุนเพื่อการศึกษา‘ใหม่’เข้มกว่าเครดิตบูโร

08 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
นับอายุของกองทุนเพื่อการศึกษา ( กยศ.) ที่ตั้งขึ้นมาร่วม 20 ปี กยศ.ได้สนับสนุนเงินกู้ยืมแก่นักเรียน/นักศึกษา เพื่อค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายด้านศึกษาถึง 4.5 ล้านราย วงเงินกู้ 4.7 แสนล้านบาท และจำนวนนี้กว่า 4 แสนล้านบาท มาจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรในแต่ละปี ( ที่เหลือมาจากการชำระหนี้) แต่ปัจจุบันยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระถึง 2 ล้านราย มูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังจากแนวโน้มผู้ค้างชำระเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาที่จะต่อถึงน้องๆรุ่นหลัง

[caption id="attachment_36207" align="aligncenter" width="350"] ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์  ผู้จัดการ กยศ. ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์
ผู้จัดการ กยศ.[/caption]

ล่าสุด (1 มี.ค. 59) คณะรัฐมนตรี ( ครม.)ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ..... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ผลของกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามหนี้อย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" ถือโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการ กยศ. ในรายละเอียดดังนี้ ...

 พ.ร.บ.กองทุนส่งผล ?

ทำให้กองทุนมีประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ผู้กู้ยืม เพราะกฎหมายนี้จะกำหนดเลยว่าผู้กู้ยืมต้องยอมให้เปิดเผยข้อมูล ขณะเดียวกันกองทุน ก็สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานไหนโดยไม่ติดพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร คือทำให้เราตามหนี้ได้ ซึ่งวันนี้สัญญากู้ใหม่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาผู้กู้ต้องยอมให้เปิดเผยข้อมูล คือยิ่งกว่าเครดิตบูโร อีกข้อที่กำหนดคือองค์กรนายจ้างจะต้องมีหน้าที่หักเงินเดือนผู้กู้ยืมกองทุน ส่งผ่านกรมสรรพากร เช่นเดียวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยสรรพากรจะทำหน้าที่รับชำระเงินจากองค์กรนายจ้างเอง

(ขั้นตอนหลังครม. ( 1 มี.ค.59 ) อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ..จะเสนอต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลปกครอง และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้วจึงเสนอสนช. ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย)

 ควบ 2 กองทุน

ผลของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังเป็นการควบรวม 2 กองทุนคือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่งเมื่อมารวมกัน การบริหารจัดการก็จะง่ายขึ้น เพียงแต่ว่าจะมีโปรดักต์ทั้งกองทุนกยศ. และกรอ.อยู่ในกองทุนเดียวกัน กล่าวคือ กยศ.จะให้กู้กับเด็กขาดแคลน ส่วนกรอ.ไม่จำกัดรายได้ผู้กู้ แต่ดูสาขาเรียนเป็นหลัก (คนรวยก็กู้ได้) แต่ต้องเรียนในสาขาที่รัฐบาลกำหนด เป็นที่ต้องการของประเทศ

ปัจจุบันอัตราการค้างของทั้ง 2 กองทุน ถ้าเป็นกรอ.จะสูงกว่า เพราะเฉลี่ยผู้กู้กรอ.ต่อรายต่อปีอยู่ที่ 7.64 หมื่นบาท ส่วนกยศ.ต่อรายต่อปีอยู่ที่ 5.2 หมื่นบาท

 กฎหมายทำผู้กู้หางานยากขึ้น ?

"ฐานเศรษฐกิจ" ถามต่อว่า "การที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัดให้กองทุนและมีหน้าที่หักเงินส่งสรรรพากร จะทำให้ผู้กู้มีแบล็กลิสต์ หางานยากขึ้นไหม ?

ดร.ฑิตติมา ยอมรับ วันนี้มีหลายหน่วยงานตั้งเงื่อนไขในการรับเข้าทำงานแล้วว่า ลูกหนี้ต้องไปเคลียร์หนี้ตัวเองก่อน เพราะเงินกู้ก้อนแรกคุณยังไม่รับผิดชอบเลยแล้วจะไปรับผิดชอบอะไร ทำให้ผู้กู้ต้องไปหาเงินก้อนอื่นมาชำระหนี้ก่อนจะเข้าทำงาน ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยสร้างวินัย

"อย่างเวลาฟ้องเราก็ฟ้องทั้งผู้กู้-ผู้ค้ำ ยึดทรัพย์ก็ยึดทั้งผู้กู้-ผู้ค้ำ คือมีผลกระทบถึงกันหมด เทียบกรณีทุนการศึกษา เบี้ยว 1 คนกระแสสังคมแรง แต่กองทุนกยศ. ค้างเติ่งถึง 2 ล้านราย มูลหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท มันมีผลกระทบต่อน้อง ๆไม่รู้กี่ล้านราย และคนค้ำส่วนใหญ่ก็ใช้พ่อแม่"

(ประเมิน ผู้กู้ค้าง 2 ล้านราย มูลหนี้ค้าง 5.6 หมื่นล้านบาท หากกยศ.ตามกลับคืนได้ทั้ง 5.6 หมื่นล้านบาทจะส่งโอกาสทางการศึกษาถึงรุ่นน้องในจำนวนถึง 1.08 ล้านราย โดยคำนวณจากเงินกู้เฉลี่ยต่อรายที่ 5.2 หมื่นบาท)"

 ปีงบ2559-60 รัฐจัดสรร ?

งบประมาณ ปี 2559 รัฐจัดสรรให้กองทุนกยศ. 1.3 หมื่นล้านบาท เทียบจากปี 2558 ได้รับ 1.44 หมื่นล้านบาท และปี 2560 กยศ.เสนอของบไป 9 พันล้านบาท (ครม.ยังไม่อนุมัติ ) ซึ่งปี 2560 จะเป็นปีแรกที่กองทุน ของบประมาณต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลการชำระหนี้เราดีขึ้นตามลำดับ โดยปี 2556 ,ปี 2557 ,ปี 2558 กยศ.ได้รับชำระหนี้คืน 1.1 หมื่นล้านบาท, 1.3 หมื่นล้านบาท และ1.7 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 2559 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท และประมาณว่าจะปล่อยกู้เป็นตัวเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2560 ตั้งเป้าปล่อยกู้ที่ 2.7 หมื่นบาท

 สาเหตุคนเบี้ยวหนี้เยอะ ?

สรุปน่าจะเป็นเรื่อง "จิตสำนึก" มากกว่า จะบอกว่าเรียนจบออกมาไม่มีงานทำคงไม่ใช่ เพราะอัตราการว่างงานไทยก็ต่ำมากเพียง 1 % เราก็ต้องสมมติฐานว่าเขามีรายได้นั่นแหละ เพียงแต่เขาไม่ชำระหนี้เท่านั้น

  เป้าชำระหนี้ 1.9 หมื่นล.ปีนี้

แนวทางก็มาจาก 1 .เราจัด"โครงการกยศ.,กรอ. เพื่อชาติ " ร่วมกับองค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะมาช่วยการชำระหนี้ โดยการหักเงินเดือนบุคลากรในสังกัดที่เป็นผู้กู้และคืนกองทุน ซึ่งปลัดกระทรวงการคลัง ( นายสมชัย สัจจพงษ์ ในฐานะประธานบอร์ดกยศ. ) ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานราชการกว่า 80 แห่ง จำนวนนี้เป็นราชการในระดับกระทรวง 19 แห่ง ,รัฐวิสาหกิจ 59 แห่ง, และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังอีก 8 แห่ง ซึ่งมีหน่วยงานที่ตอบรับมาแล้ว 11 แห่ง แต่การหักเงินเดือนจะมีผลในปี 2560

 มาตรการจูงใจ

มาตรการจูงใจหากเข้าร่วมโครงการนี้ ก็เช่นกรณีผู้ที่ไม่ค้างชำระ โดยมีการชำระเป็นปกติ หากยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนทุกเดือนเพื่อนำส่งกยศ. จะได้รับเงินตอบแทนเป็นรางวัล 1% ของยอดเงินต้นคงเหลือในวันที่จ่ายเสร็จสิ้น ส่วนผู้ที่ค้างชำระอยู่ต้องชำระงวดที่ค้างทั้งหมดให้เป็นปกติก่อน ส่วนที่เหลือหากให้นายจ้างหักเงินเดือนคืน กยศ.ๆจะลดเบี้ยปรับให้ 100% และในกรณีที่ปิดบัญชีเลย ผู้กู้ปกติถ้าปิดบัญชีเลยจะได้รับเงินตอบแทนเป็นรางวัล 3% ส่วนที่ผู้ค้างชำระหากปิดบัญชีเลย ก็จะได้ลดเบี้ยปรับ 100%

แนวทางที่ 2 คือการใช้บริษัทติดตามหนี้ซึ่งได้ผลดีพอควร โดยปีแรกที่ใช้บริษัทติดตามหนี้ทำให้ได้รับชำระหนี้ประมาณ 800 ล้านบาท, ปีที่ 2 ได้กว่าพันล้านบาท ซึ่งเดิมกองทุนใช้บริษัทติดตามหนี้ 16 แห่ง ปัจจุบันเพิ่มเป็น 26 แห่ง

 สถานะของลูกหนี้

กยศ.มีลูกหนี้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ 3 ล้านราย (จากที่ปล่อยไปทั้งสิ้น 4.5 ล้านราย ) แต่ใน 3 ล้านราย เป็นรายที่ไม่ค้างหนี้เลย 1 ล้านราย, ค้างหนี้มีประมาณ 2 ล้านราย

รายที่ค้าง 2 ล้านราย แยกเป็น 1.ผู้กู้ทั่วไปประมาณ 1.1 ล้านราย 2.ผู้กู้ที่อยู่ในโครงการไกล่เกลี่ย 1 แสนราย และ 3.ผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมีประมาณ 8 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นคนเก่าที่ค้างทั่วไป ดังนั้นกยศ.จึงมาเน้นการลดกลุ่มผู้กู้ทั่วไป 1.1 ล้านราย เพื่อจะหาทางป้องกันไม่ให้กลุ่มนี้ดำเนินไปสู่วันที่ถูกดำเนินคดี จึงได้เน้นโดยใช้บริษัทติดตามหนี้คือตั้งแต่ค้างงวดแรกซึ่งได้ผลดีพอสมควร

ส่วนกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีถึงขั้นยึดทรัพย์ คือผู้กู้ที่ถึงกำหนดชำระเมื่อจบหรือเลิกการศึกษาแล้ว 2 ปี ต้องผ่อนชำระ 15 ปี ดอกเบี้ย 1% แต่ถ้าค้างเกิน 1 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างชำระต้องเสียเบี้ยปรับ 18% แต่ถ้าเขาค้างชำระเกิน " 4ปี 5 งวด " ก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งปัจจุบันเราส่งเรื่องให้กับบริษัททนายเพื่อไปดำเนินการสืบทรัพย์ กับผู้กู้รุ่นปี 2547,2548,2549 แล้ว ประมาณ 5.1 หมื่นราย จำนวนนี้ถูกยึดทรัพย์แล้ว 3.8 พันราย

การป้องกันจากต้นทาง

ส่วนแนวทางที่ 3 ที่เราทำอยู่คือการกำหนดให้สัญญากู้ใหม่ตั้งแต่ปี 2558 ต้องเปิดเผยข้อมูลให้เราเข้าถึง เพราะกองทุนจะเป็นสมาชิกเครดิตบูโรในปี 2561 รวมถึงการป้องกันจากต้นทาง โดยวางเกณฑ์ใหม่ในปี 2559 ว่าผู้กู้ใหม่จะต้องมีผลการศึกษา ในเกรดเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 2.00 ของปีก่อนหน้าและจะต้องทำโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อปีจึงจะกู้ได้

 สาระของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. ...

- ผู้จัดการกองทุน สามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลใดๆ ตามความเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่แทนกองทุนในการบริหารและจัดการการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการดำเนินการติดตามเร่งรัดการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

- กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน รวมถึงการให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน

- กำหนดให้เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัด ให้กองทุนตรวจสอบว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ และมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินในลำดับเดียวกับหนี้ค่าภาษีอากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559