TDRI แนะไทยรอบคอบ ใช้บทเรียน12ปท.ถกTPP

28 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
ทีดีอาร์ไอ แนะไทยศึกษา TPPโดยละเอียด นำประสบการณ์ของ 12 ประเทศมาปรับใช้ในการเตรียมเปิดเจรจานอกรอบ ชี้ยังมีเวลาให้ตัดสินใจอีก 2 ปี เจโทรห่วงไทยตกขบวนทำขีดแข่งขันวูบ ด้านญี่ปุ่น-มาเลเซียเปิดประสบการณ์เจรจานอกรอบสหรัฐฯไม่ให้เสียเปรียบ

[caption id="attachment_34301" align="aligncenter" width="500"] การค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่ม TPP การค้าระหว่างประเทศของไทยกับกลุ่ม TPP[/caption]

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการสัมมนาเรื่องสาระสำคัญและข้อกังวลแห่งการเข้าสมาชิก TPP ว่า ไทยยังมีเวลาคิดอีก 2 ปีในการจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ซึ่งการเข้าร่วมในรอบหลังมองว่าอาจเสียเปรียบ เพราะต้องเจรจากับอีก 12 ประเทศที่เข้าร่วมก่อนหน้านี้เพื่อให้ยอมรับไทยเข้าเป็นสมาชิกด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งไทยสามารถนำเอาประสบการณ์ของประเทศในการเจรจา TPP ของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ เพราะที่ผ่านมาข้อบทของ TPP ไม่ค่อยเปิดให้เห็น ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ไทยได้ศึกษาและประเมินได้ว่าได้หรือเสีย ซึ่งการเจรจานอกรอบน่าจะเป็นทางออกของไทย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP มากนัก

ส่วนการทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลนั้น หากรัฐบาลมีข้อมูลเพียงพอก็ควรจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ ว่ามีข้อมูลที่เหมาะสม ดีหรือไม่ดีมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งควรจะเปิดเผยข้อมูลแต่ละบริบทว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เรื่องใดไทยได้หรือเสียประโยชน์

ด้านนางปรียานุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเข้าร่วมทีพีพี ภาคปศุสัตว์ของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่ไม่มีกองทุนไหนเยียวยาได้ ดังนั้นต้องพยายามดันให้อยู่ในบัญชีอ่อนไหวให้นานที่สุด โดยระหว่างนี้ใช้กรณีศึกษาจากเวียดนามเป็นตัวอย่างในการเจรจาลดภาษี เพราะเวียดนามมีความใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนกัน

ดาโต๊ะ สตีเวน หวัง ชิง หมิง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร Institute of Strategic and International Studies (ISIS) กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลง TPP จะมีการเจรจานอกรอบหรือที่เรียกว่าไซด์เลตเตอร์( Side Letter) ของแต่ละประเทศสมาชิกซึ่งว่าด้วยเรื่องข้อตกลงในประเด็นอ่อนไหวที่สมาชิกบางส่วนมีต่อกัน รวมถึงการเจรจาเพื่อกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งจะมีข้อตกลงเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก TPP ต่อสินค้าหรือประเด็นนั้นๆ ในส่วนมาเลเซีย มีรายการสินค้าอ่อนไหวและมีประเด็นที่ระบุใน Side letter หลายเรื่องเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายของประเทศที่ต้องการสร้างรถยนต์แห่งชาติ การเปิดตลาดสินค้ายาสูบ ซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพที่แม้จะยังเปิดตลาด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าด้วยเรื่องการจับตาดูตลาดสินค้านี้อย่างใกล้ชิด อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เป็นต้น

นายไดซึเกะ ฮิราซูกะ ประธานสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ไทยจะเข้าร่วม TPP หรือไม่อยู่ที่ไทยจะตัดสินใจเอง แต่ถ้าไม่เข้าร่วมไทยก็จะมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันที่อาจสู้มาเลเซียหรือเวียดนามไม่ได้ นักลงทุนอาจย้ายฐานไปประเทศเหล่านี้แทน เพราะขยายตลาดได้มากกว่า และไทยเองขณะนี้ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559