ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากปัญหาการขนส่งน้ำมันดิบที่ทะเลเหนือ

25 ก.พ. 2559 | 03:10 น.
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากปัญหาการขนส่งน้ำมันดิบที่ทะเลเหนือ และอุปสงค์น้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์  วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์  2559

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3% โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคในการขนส่งน้ำมันดิบราว 35,000 บาร์เรลจากฝั่งทะเลเหนือ (North Sea) ณ จุดส่งมอบ Hound Point ประเทศสก็อตแลนด์ ไปยังประเทศเกาหลี ในขณะที่ น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณแข็งแกร่ง   กลบความกังวลจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

+ EIA เผยข้อมูลความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ในรอบสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันขายปลีกที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 2.2. ล้านบาร์เรล ที่มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า และนับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 ส่งผลให้ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 256.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สิ้นสุด ณ วันที่ 19 ก.พ.)

- อย่างไรก็ตาม EIA รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สู่ระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 507.6 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 0.33 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 65.1 ล้านบาร์เรล

- ตลาดยังคงกังวลต่อปัญหาน้ำมันดิบล้นตลาด หลังจากก่อนหน้านี้ รมว.กระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ระบุว่าซาอุดิอาระเบียยังไม่มีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี เวเนซุเอลากล่าวว่าจะมีการจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือกันระหว่างผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปกในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่จะถึงเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะคงอัตราการผลิตน้ำมันดิบให้เท่ากับเดือน ม.ค. 59  แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาสถานที่และเวลาที่เหมาะสมสำหรับการประชุม โดยคาดว่าจะมีผู้ผลิตน้ำมันดิบราว 10 ประเทศ ที่จะร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุป

ราคาน้ำมันเบนซิน

ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณอุปทานจากอินเดียที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากราคาน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล

ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานจากอ่าวอาหรับ (Arab Gulf) และอินเดียที่เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น อย่างไรก็ดี อุปทานในภูมิภาคมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. เนื่องจากโรงกลั่นส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียเหนือเริ่มทยอยปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดานี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 27-34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนด์เคลื่อนไหวในกรอบ 30-37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยน่าจับตามอง

จับตาการเจรจาระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกในการปรับลดหรือคงกำลังการผลิตว่าจะออกมาในทิศทางใดหลังซาอุดิอาระเบีย กาต้าร์ เวเนซุเอลา อิรัก และรัสเซียตกลงที่จะคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับการผลิตในเดือน ม.ค. ประกอบกับ อิหร่านเองที่ออกมาสนับสนุนความพยายามในการรักษาเสถียรภาพราคาโดยการคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับการผลิตเดือน ม.ค. แต่อิหร่านไม่ได้ระบุว่าจะคงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับเดิมหรือไม่

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 504.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบหลายปี ประกอบกับ น้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึง 64.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 89 ของความจุของถังเก็บน้ำมัน แม้ว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อลดปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบก็ตาม