ตั้งวอล์รูมติดตามสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ    

24 ก.พ. 2559 | 09:10 น.
กระทรวงเกษตรฯ เร่งแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 59  ตั้งวอล์รูมติดตามสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ พร้อมดึงชุมชนร่วมลดเผาใน 1,200 หมู่บ้าน

นายสุรพล  จารุพงศ์  โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถิติในปี 2558 ที่มีการตรวจพบว่าเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรใน 10 จังหวัดภาคเหนือ  ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่กว่า 1.83 ล้านไร่ และมีตำบลที่มีการเผาในระดับสูงกว่า 200 ตำบล ประกอบกับสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือภาพรวมอยู่ ในช่วงเฝ้าระวัง มีค่าฝุ่นละอองตั้งแต่ 68-101 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดอยู่บริเวณจังหวัดลำพูน ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-4 (ภาคเหนือ) กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย ตั้งแต่เดือน ม.ค.- เม.ย.  พร้อมให้ข้อมูลการหยุดการเผาในพื้นที่เกษตรผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน 113 แห่ง ขอความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.)

ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมและยับยั้งการเผาพื้นที่การเกษตร ไม่ให้เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการรณรงค์หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยเน้นย้ำดำเนินการใน 4 มาตรการหลัก คือ มาตรการที่ 1 ด้านการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ จัดงานรณรงค์ในท้องถิ่น (Field Day) รวม 54 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 17,210 ราย โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่น เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการหยุดการเผาผ่านสื่อต่างๆ

มาตรการที่ 2 ด้านการป้องกันและเฝ้าระวังความเสี่ยง ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร รวม 16,908ราย จัดทำแปลงสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทดแทนการเผา 56 แห่ง พื้นที่ 2,782 ไร่  จัดทำฐานการเรียนรู้การหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรในศูนย์การเรียนรู้ฯ และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) 113 แห่ง จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสนับสนุนการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร 113 ครั้ง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนชุมชนเข้าร่วม 3,713ราย เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้กับเกษตรกร 1,113 ครั้ง

มาตรการที่ 3 ด้านการเผชิญเหตุ แจ้งขอความร่วมมือ อกม. ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดำเนินการทำความเข้าใจกับเกษตรกรในชุมชนติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควัน สนับสนุนให้วิทยากรเกษตรและอาสาสมัครเกษตร เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร มีพื้นที่เป้าหมายการดำเนินงาน รวม 380,690 ไร่ มาตรการที่ 4 การส่งเสริมและสร้างเครือข่ายในการงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม สร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบใน 20 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 210 หมู่บ้าน สร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ ทั้งหมด 244 ตำบล (กำหนดเป้าหมายไว้ 201 ตำบล) ครอบคลุมพื้นที่ 1,210 หมู่บ้าน

“ล่าสุดขณะนี้ได้มีการตั้ง War Room ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.เชียงใหม่ และสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก รับผิดชอบติดตามสถานการณ์ปัญหาหมอกควันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลมายังกระทรวงเกษตรฯ ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เพิ่มศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจากเดิม 2 แห่ง เป็น 5 แห่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ กาญจนบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งตั้งแต่เริ่มตั้งศูนย์ฯ และออกปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 15 – 23 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกในบริเวณพื้นที่จังหวัดนครปฐม อยุธยา และสุพรรณบุรี ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมพร้อมออกปฏิบัติการฯ ทำฝนเทียม เมื่อสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยอีกด้วย” นายสุรพล กล่าว