ชี้ปีลิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังหงอย ตลาดหด กำลังผลิตล้น เหมืองแร่จ๋อยตามๆกัน

13 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นโลหะต่างๆ สินค้าเกษตร และเชื้อเพลิง เพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ขณะเดียวกันในหลายๆประเทศที่เป็นคู่ค้ากับจีนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ในระยะที่ผ่านมาก็ได้มีการเร่งขยายการลงทุนเนื่องจากมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังมั่นใจว่าตลาดจีนคงต้องการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเหมือนที่เคยเป็นมา ชิลีกำลังขยายเหมืองทองแดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ในเขตทะเลทรายทางตอนเหนือของประเทศ โดยเชื่อว่าจะได้ปริมาณผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1.7 พันล้านตันท่ามกลางภาวะราคาที่กำลังตกลงทั่วโลก อินเดียก็กำลังสร้างเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านหลายพื้นที่ของประเทศเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงถ่านหินจากเหมืองในหลายๆจังหวัดแม้ว่าตลาดถ่านหินในเวลานี้จะมีผลผลิตล้นหลามอยู่มากก็ตาม ส่วนออสเตรเลียก็กำลังเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอัตราราวๆ 150% ภายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้าและมีการสร้างท่าเรือรองรับการส่งออกก๊าซธรรมชาติเพิ่มราว 6 แห่ง ทว่าสถานการณ์ในเวลานี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปโดยมีจีนเป็นตัวแปรที่สำคัญ

เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่อีกรายคือสหรัฐอเมริกาก็กำลังเผชิญปัญหาหนี้สะสมในภาคเอกชน บริษัทธุรกิจจำนวนมากกำลังประสบความยากลำบากจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังจำเป็นต้องรักษากำลังการผลิต ปริมาณการผลิตที่ล้นตลาดท่ามกลางสถานการณ์ราคาที่ตกดิ่งลงกำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างบราซิลและเวเนซุเอลา หรือประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดาและออสเตรเลีย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความหวั่นใจให้กับบรรดานักลงทุนทั่วโลกเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกส่อเค้าไม่เป็นไปดังคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชะลอตัวแรงของจีนได้ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นไปหลายระลอกตั้งแต่เปิดศักราชใหม่มา นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ภาวะตลาดหดตัวสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรของตลาดหลังจากที่เฟื่องฟูมากว่า 10 ปี และอีกส่วนหนึ่งเนื่องมาจากหลายโครงการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การขุดเจาะน้ำมันในแคนาดาและการทำเหมืองแร่เหล็กในแอฟริกาตะวันตกเป็นโครงการหลายพันล้านดอลลาร์ที่ตัดสินใจลงทุนมาตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว ดังนั้นแม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและราคาสินค้าที่ดำดิ่งลง บริษัทก็ไม่สามารถจะลดการผลิตหรือปิดโรงงานได้ง่ายๆ ปริมาณการผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นจึงต้องอาศัยเวลาเป็นปีๆในการบริหารจัดการให้ลงตัว

แต่ในระหว่างนั้น ปริมาณการผลิตที่ล้นเกินนี้ก็ได้ส่งผลกดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ยิ่งตกต่ำลง และวิธีการรับมือของบริษัทก็สร้างความยากลำบากติดตามมา มีตัวเลขประเมินสถานการณ์ว่า บริษัทน้ำมันทั่วโลกได้ปลดคนงานแล้วจำนวนรวมๆกันประมาณ 2.5 แสนคน ด้านบริษัท แอลฟา เนเชอรัล รีซอร์สเซสฯ และบริษัทที่ทำกิจการเหมืองถ่านหินในสหรัฐอเมริกาอีกหลายรายก็ประสบปัญหาทางการเงินและได้ยื่นขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลายแล้ว หรือแม้กระทั่งซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังประสบภาวะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอหนักและต้องหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศ ขณะที่เวเนซุเอลา ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่จากลาตินอเมริกาก็กำลังใกล้จะถึงเส้นตายในการชำระหนี้ต่างประเทศ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปีนี้ นักวิเคราะห์มองว่าเวเนซุเอลาอาจมีปัญหาในการชำระหนี้ เนื่องจากรายได้จากการส่งออกของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมันถึง 95%

ไมเคิล เลวี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากสภาการวิเทศสัมพันธ์ (CFR) ให้ความเห็นในเชิงเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้เหมือนกับน้ำฝน ซึ่งระยะที่ตกแรกๆก็ช่วยบรรเทาความแห้งแล้ง แต่เมื่อตกไปไม่หยุดก็กลับก่อให้เกิดน้ำท่วม "ในท้ายที่สุด ผู้ผลิตก็กลายมาเป็นศัตรูของตัวเอง ไม่มีใครเคยคิดว่าตัวเองจะผลิตสินค้าออกมามากจนเกินไป แต่สิ่งนั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และก็ทำให้พวกเขาเองประสบปัญหาอยู่ในเวลานี้"

กระนั้นก็ตาม สถานการณ์ราคาที่ตกต่ำทั้งของน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต่างๆ นับเป็นข่าวดีในสายตาผู้บริโภคทั่วโลก แต่ในสายตานักเศรษฐศาสตร์มองว่าสถานการณ์เช่นนี้อาจจะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง มูลค่าการค้าลดน้อยลง และอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืดในบางประเทศ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ สถานการณ์ในประเทศหนึ่งก็ยังอาจส่งผลกระทบหนักในประเทศอื่นๆ เช่นกรณีตลาดหุ้นจีนดำดิ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปลายปี

แดเนียล เยอร์กิน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ด้านพลังงานและรองประธานบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงไม่ได้ส่งผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ในทางกลับกัน มันทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ได้บ่งบอกอะไรบ้าง "มันบอกถึงการแห่ลงทุนมากจนเกินไปเมื่อในอดีต (ทำให้มีกำลังผลิตส่วนเกินล้นตลาดในเวลานี้) หรือเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ในความเห็นของผมมันเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง" ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีวัฏจักรการขึ้น-ลง และจะขึ้น-ลงตามเศรษฐกิจโลก แต่ในตอนนี้ สถานการณ์ในจีนและแนวโน้มดอกเบี้ยลดทั่วโลก กำลังส่งผลต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไม่มากก็น้อย

ในปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น จีนมีความต้องการบริโภคน้ำมันดิบถึงวันละ 7.5 ล้านบาร์เรล จากเดิมที่เคยบริโภคในอัตรา 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2546 ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในโลกอีกหลายชนิดด้วยกัน ความต้องการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งทะยานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ยกตัวอย่าง ราคาทองแดงที่พุ่งขึ้น 3 เท่า และราคาสังกะสีพุ่งขึ้น 2 เท่าในช่วง 5 ปี (2546-2550) ทั้งสหรัฐฯและยุโรปต่างก็ตกอยู่ในสภาพผู้นำเข้าที่ต้องช่วงชิงสินค้ากับจีน ต้องสู้ราคากันเพื่อให้ได้มาไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือกาแฟ แต่เมื่อโลกเผชิญวิกฤติการเงินในปี 2551 ซึ่งหลายประเทศซวนเซขณะที่จีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องและเพิ่มการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ประเทศเหล่านั้นหันมามองจีนในฐานะหัวจักรช่วยฉุดดึงเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะวิกฤติ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นประกอบกับดอกเบี้ยที่ถูกกดต่ำเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ยิ่งทำให้หลายประเทศเร่งการลงทุนและผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออก แต่เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว สถานการณ์ก็เริ่มก่อเค้าปัญหา โดยปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ย่ำแย่ที่สุดนับจากหลังยุควิกฤติการเงินผ่านพ้นไป นิกเกิล แร่เหล็ก พัลลาเดียม แพลทินัม และทองแดง ราคาดิ่งลงไป 25% หรือมากกว่านั้น ส่วนราคาน้ำมันก็ลดลงไปแล้วมากกว่า 60% ในช่วงเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา แม้แต่สินค้าเกษตรเช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต และข้าวสาลี ราคาก็ดำดิ่งลงเช่นกัน

แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงดำดิ่งต่อเนื่องในปีนี้ โดยราคาน้ำมันอยู่ที่เหนือ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯเล็กน้อย หลังจากที่ดำลงไปในระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 10 ปี สถานการณ์ดังกล่าวถูกซ้ำเติมด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทที่เคยชินกับดอกเบี้ยเงินกู้อัตราต่ำมาหลายปีและเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆหรือขยายกิจการเพื่อเพิ่มการผลิตไปแล้วก่อนหน้านี้กลับต้องพบกับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและมีปัญหากับการชำระหนี้คืน ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท ฟรีพอร์ท-แมคโมแรนฯ เจ้าของกิจการเหมืองทองแดงรายใหญ่ในเปรู บริษัทเพิ่งลงทุนไป 4.6 พันล้านดอลลาร์ขยายกิจการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตถึง 3 เท่า โครงการใหญ่มากจนได้ชื่อว่าเป็นโครงการที่ใช้ไฟฟ้าถึงเกือบ 10% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในเปรู แต่ในเวลานี้เมื่อราคาทองแดงในตลาดโลกหล่นสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี บริษัทจึงต้องประสบภาวะขาดทุน 3.8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของบริษัทในปี 2558 ลดลงไปกว่า 70% ส่งผลให้ประธานบริหารต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ถึงแม้หลายบริษัทจะประสบชะตาเดียวกันนี้และต้องชะลอๆการดำเนินงาน แต่ก็ไม่สามารถใส่เกียร์ถอย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพราะได้รับการออกแบบให้ต้องดำเนินการผลิตแบบเต็มกำลังผลิตเพื่อความคุ้มค่าในการดำเนินงาน อีกทั้งยังจำเป็นต้องผลิตสินค้าส่งออกมานำมาชำระหนี้เงินกู้ที่ลงไปกับการลงทุนขยายกิจการ ไมเคิล ซี. ลินช์ ประธานศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและพลังงาน ให้ความเห็นว่า ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทวัตถุดิบมักจะวางแผนลงทุนตามราคาสินค้าในช่วงเวลานั้นๆ โดยไม่ได้ตระหนักว่าราคาอาจส่งผลต่อความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ในอนาคต และเมื่อตอนนี้ ความต้องการสินค้าลดลงเนื่องจากราคาถีบตัวสูง บริษัทก็ตกอยู่ในภาวะกำลังผลิตล้นเกินอย่างเต็มตัว และเมื่อลงทุนสร้างไปแล้ว ก็จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงสุดท่ามกลางบริบทปัจจุบันคือ บริษัทที่ทำเหมืองถ่านหินทั้งในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ สาเหตุเพราะนอกจากความต้องการของผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างจีนจะลดลงแล้ว ยังถูกกดดันด้วยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559