'สีหนาท'ประสานภาครัฐ-เอกชน ร่วมผลักดันเพิ่มประสิทธิภาพต้านฟอกเงิน

12 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
ภายใต้วิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งสู่มาตรฐานสากล" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้ดำเนินงานตอกย้ำค่านิยมหลัก คือ กล้าหาญ มุ่งมั่น สุจริต มีประสิทธิภาพ และยุติธรรม โดย พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.สะท้อนบทบาทภารกิจผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวทางดำเนินนโยบายทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม หรือการผลักดันให้ตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับความผิด 25 มูลฐานมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพโดยรวมถึงการประสานนโยบายรัฐบาลไทยกับนานาประเทศ

เร่งคืนทรัพย์ปี 2559

เป็นเรื่องดำเนินงานเกี่ยวกับคดีสำคัญๆ ที่ค้างอยู่ทั้งอยู่ระหว่างติดตามร่องรอยและติดตามทรัพย์สิน รวมถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิหลังแก้ไขกฎหมายในการนำทรัพย์สินคืนประชาชน ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกระบวนการมีความยุ่งยาก สิ่งที่อยากจะฝากคือ เดือนกุมภาพันธ์หลังคณะกรรมการ ปปง.เห็นชอบในแบบคำขอคุ้มครองสิทธิโดย ปปง.พยายามลดขั้นตอนในการยื่นเรื่องราวเพื่อให้มีความยุ่งยากต่อประชาชนน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ปปง.ต้องมีความรอบคอบละเอียดครบถ้วนเพราะเป็นกระบวนการคืนเงินให้กับประชาชนซึ่งต้องผ่านกระบวนการทางศาล เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เวลาพอสมควร โดยความชัดเจนเมื่อกรรมการ ปปง.ประชุมแล้วเห็นชอบจึงทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องเป็นปัญหาในการเดินทางมาส่วนกลางให้สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มกรอกส่ง ปปง.แต่หากมีความสงสัยในพยานหลักฐานต่างๆ ก็จำเป็นต้องสอบปากคำ

นอกจากนี้ยังมีคดีต่างๆ ที่ ปปง.ยึดทรัพย์สินในปี 2558 รวมมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาทในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีวงเงิน 7 พันล้านบาทเป็นของคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินสดจำนวนเงินไม่มาก นักอีกส่วนที่เหลือเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ และประเภทอื่นๆ หากเก็บไว้อาจจะเป็นภาระในการเก็บรักษาจึงอาจนำออกประมูลขายทอดตลาด และยังมีบางส่วนเป็นคดีที่ไม่มีผู้เสียหา เช่น คดียาเสพติด คดีค้ามนุษย์ เหล่านี้ทรัพย์สินจะตกเป็นของแผ่นดิน

โครงการนำทรัพย์สินคืนประชาชนนั้น ขั้นตอนวิธีการต้องผ่านกระบวนการทางศาลดังนั้นเวลานี้ยังไม่สรุปตัวเลขหรือจำนวนที่ชัดเจน แต่คดีที่จะคืน เป็นรูปธรรมคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งหากคืนสำเร็จจะลดภาระรัฐบาลในการดูแล/อุ้มชูสหกรณ์ไม่ให้ล้มซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยเหลือและเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาในกลุ่มสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีคดียูฟันที่เบื้องต้นมีวงเงินต้องคืน 850 ล้านบาท

"ผมพยายามจะแถลงข่าวให้ประชาชนที่กระจายตัวอยู่ต่างจังหวัดได้รับรู้รับทราบเพื่อจะไม่เสียสิทธิในการที่จะทำเรื่องขอคืนทรัพย์"

ตีฆ้องภาครัฐ-เอกชนร่วมต้านก่อการร้าย

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การประเมินประเทศไทยซึ่งปปง.เตรียมการมาหลายปี โดยปี 2559 เป็นช่วงที่กลุ่มความร่วมมือในการต่อต้านการฟอกเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ APG (APG: Asia Pacific Group Laundering)ซึ่งเป็นสาขาของ FATF จะส่งตัวแทนซึ่งเป็นประเทศสมาชิกจาก 38 ประเทศที่ถูกคัดเลือกเป็นคณะผู้ประเมินซึ่งผู้แทนประเทศเหล่านั้น จะเข้ามาประเมินความสอดคล้องของมาตรฐานสากลของประเทศไทยเกี่ยวกับระบบการป้องกันการปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการก่อการร้าย(AML/CFT: Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism)

"ตามกำหนด ปปง.ต้องส่งรายงานการประเมินเบื้องต้นให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคมปีนี้จากนั้นจะมีการตรวจแก้ระหว่างปปง.กับประเทศผู้ประเมินจนกระทั่งร่างรายงานเป็นข้อยุติจากนั้นเขาจะ Audit Check on site ประมาณเดือนพฤศจิกายนต้นเดือนธันวาคมและจะมีการสรุปรายงานเมื่อ ปปง.กับผู้ประเมินเห็นตรงกันและนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุม APGในเดือนกรกฎาคมปี 2560 ณ กรุงโคลัมเบีย

"เลขาธิการ ปปง."ระบุว่า การประเมินประเทศไทยจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.การประเมินเชิงเทคนิค ซึ่งเกี่ยวกับความคืบหน้าในการมีกฎหมายบังคับใช้หรือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานสากลของ FATF ขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การทำให้แพร่กระจายซื้ออาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงซึ่งเป็นสาระสำคัญอยู่ใน FATF และต้องผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ทันโดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายรวมทั้งจะต้องดำเนินการออกกฎหมายลูกอีก 24 ฉบับ"

และ 2.การประเมินด้านประสิทธิผลนั้น ยังมีปัญหาในแง่ความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมาย คือ หน่วยงานของไทยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ปรากฏว่าด้านข้อมูลสถิติยังมีน้อย หรือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังไม่ค่อยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระดับชาติ ฉะนั้นการสืบค้นข้อมูลจึงมีความยากลำบากหรือมีข้อมูลไม่ครบถ้วนทำให้ไม่มีข้อมูล สถิติ ดังนั้น ปปง.ในฐานะหน่วยงานผลักดันแต่ยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ในการปฏิบัติตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผล

จี้ตลาดเงิน-ตลาดทุนตั้งระบบสแกนบัญชีลูกค้า

อย่างไรก็ตาม การประเมินประสิทธิผลมุ่งวัดผลความสำเร็จจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะเรื่องไม่ติดตั้งระบบติดตามความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้าสถาบันการเงินหรือธนาคาร เพราะถ้าไม่ติดตามบัญชีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายโดยที่ธนาคารไม่ปรับระดับความเสี่ยง(ระดับสูงและระดับต่ำ)ของลูกค้าจะไม่สามารถไล่ตรวจบัญชีที่ถูกจัดระดับความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่ประเทศไทยไม่ผ่านประเมิน

ถ้าสถาบันการเงินของไทยทุกกลุ่มยิ่งกลุ่มตลาดเงินตลาดทุนหลักๆ ไม่ทำระบบดังกล่าวหากผู้ประเมินมา On site จะปรากฏในรายงานว่า ระบบสถาบันการเงินคือ นอกจากธนาคารแล้งยังมีกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บริษัทประกันชีวินหรือประกันวินาศภัย ที่ปรึกษาทางการเงิน ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน รวมทั้ง e-Payment หรือสหกรณ์ ฯลฯ จำเป็นต้องติดตั้งระบบติดตามความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้าแต่หลักคือ จะดำเนินการทบทวนทำความเข้าใจกับกลุ่มธนาคารก่อน

ซักซ้อมความพร้อมก่อนประเมิน

สำหรับการเตรียมรับการประเมินนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคณะผู้ประเมินจะมีใครบ้าง แต่หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารระดับสูงต้องตระหนักและมีนโยบายที่สอดคล้องกับทางการในแง่ของการจัดตั้งทีมปฏิบัติงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการประเมินอย่างชัดเจน รวมทั้งภาคเอกชนต้องชี้แจงและทำความเข้าใจตั้งแต่ระดับ Vice President และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ขณะที่เอกสารเผยแพร่ ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียเมื่อพบภาคธุรกิจ แลกเปลี่ยนเงินมีความเสี่ยง ทางมาเลเซียมีการปรับนโยบายให้ทุกคนที่ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินที่ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตและมีการขึ้น Blacklist ผู้ประกอบการที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อกำหนดส่งผลให้ใบอนุญาตถูกถอนไปเป็นจำนวนมากและควรมีการประเมินรายภาคธุรกิจด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559