กฎหมายน้ำใช้รัฐบาลหน้า ‘เกษตรแปลงใหญ่-ยังชีพ’ไม่ต้องจ่าย

08 ส.ค. 2561 | 11:15 น.
เมื่อเกิดภัยพิบัตินํ้าท่วมคราใด คนไทยยังมีภาวะหลอนกับเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่เมื่อปี 2554

จากปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างมีเอกภาพโดยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...จะบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าทั้งระบบ รวมถึงแก้ปัญหานํ้าท่วม-แล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้จริงหรือไม่ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ พล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ถึงความคืบหน้า และความมั่นใจการมีผลบังคับใช้

aganit3
เหตุต้องมีกฎหมายน้ำ

พล.อ. อกนิษฐ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายเกี่ยวกับนํ้า และเป็นความพยายามของรัฐบาลมาหลายสมัยเกือบ 20 ปีแล้ว ที่จะให้มีกฎหมายนํ้าเข้ามา ซึ่งก็มีอันเป็นไปทุกครั้ง ไม่ผ่านวาระ 1 บ้าง หรือเข้าวาระ 1 แล้วก็ยุบสภาบ้างจึงทำให้กฎหมายนี้ตกไป ขณะที่ความสำคัญของการมีกฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันในการเข้าถึงการใช้นํ้าของพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน และเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้นํ้าในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยน แปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับนํ้ากระจายอยู่ตามหน่วยงานรวมทั้งหมด 42 หน่วยงาน ทำให้การทำงานขาดเอกภาพ และขาดกลไกในการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้ามากถึง 38 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้และการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่องหรือแก้ไขเฉพาะพื้นที่แตกต่างกัน อีกทั้งข้อกำหนดในกฎหมายยังมีความซํ้าซ้อน ขัดแย้ง ไม่เชื่อมโยง มีช่องว่าง จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรนํ้าได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ในมาตรา 77 วรรค 2 ว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบจึงทำให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น แล้ว  6-7  ครั้ง จากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มนํ้า และเครือข่ายภาคประชาชน 54 จังหวัด 17 ลุ่มนํ้า ซึ่งในการรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งทางคณะฯ จะนำมาพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายโดยตลอด “ผมพูดอยู่เสมอว่า ทุกความคิดมีคุณค่า ไม่ฆ่าทิ้ง”
ขยายรอบ7รอควบก.ม.ลูก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับร่างพ.ร.บ.นี้ รับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2560 มีทั้งหมด 100 มาตรา ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาการพิจารณาร่าง ออกไปอีกกรณีพิเศษ อีก 90 วัน เป็นครั้งที่ 7  จะสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2561 สาเหตุที่จำเป็นต้องขยายออกไป เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผังนํ้า” ไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. .... ซึ่งการเพิ่มบทนิยามดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบทบัญญัติอื่นๆ ในร่างพ.ร.บ.หลายมาตรา คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงต้องพิจารณาร่างมาตราที่เกี่ยวข้องกับบทนิยามดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาในทางปฏิบัติ และเพื่อให้บทบัญญัติในร่างพ.ร.บ.นี้มีความเชื่อมโยงและมีความสอดคล้องกัน

 

“เมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับจะเป็นกลไกสำคัญให้กับฝ่ายบริหารที่จะใช้เป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าทั้งระบบ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาในทางปฏิบัติและความซํ้าซ้อนกันระหว่างหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานผู้ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้มีมติจัดส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาและให้ความเห็น รวมทั้งให้สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ไปจัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง อาทิ ประกาศหลักเกณฑ์ผู้รับใบอนุญาตการใช้นํ้าประเภท 2 หรือ 3 เป็นต้น เพื่อเสนอมาให้คณะกรรมาธิการวิสามัญประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เพื่อให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว จะมีการผ่อนปรนค่าเก็บนํ้า 2 ปี ระหว่างนั้น ทาง สทนช.จะต้องไปรับฟังความคิดเห็นในแต่ละลุ่มนํ้าด้วย จะอยู่ในบทเฉพาะกาลที่บังคับไว้แล้ว”
อัตราเดียว-เกษตรไม่เก็บ

ส่วนประเด็นการจัดเก็บค่าใช้นํ้าในปัจจุบัน พบว่า การจัดเก็บค่านํ้าของกรมชลประทานจะจัดเก็บเพื่อนำส่งเข้าเงินทุน หมุนเวียนเพื่อการชลประทานตามพ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2458  กล่าวคือ นํ้าเพื่อใช้ในการเกษตรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานไม่เก็บค่านํ้า ส่วนภาคเอกชนขอใช้นํ้า เก็บ 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนกรมทรัพยากรนํ้าบาดาล จะจัดเก็บแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งเข้ากองทุนพัฒนานํ้าบาดาลตาม พ.ร.บ.นํ้าบาดาล พ.ศ. 2520 สัดส่วน 70% และอีก 30% จะนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ในกฎหมายจะเก็บหมด แม้แต่นํ้าเพื่อดำรงชีพ

“เจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะต้องเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ประกอบกับการใช้นํ้าจะต้องใช้บังคับทั้งในพื้นที่เขตชลประทาน พื้นที่นอกเขตชลประทาน และนํ้าบาดาลด้วย เพื่อส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญอัตราการเก็บใช้นํ้าประเภท 2 และประเภท 3 ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ อัตราการเก็บค่านํ้าจะต้องเท่ากัน ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายฉบับนี้ กล่าวคือ นํ้าเพื่อยังชีพ ประเภท 1 และนํ้าเพื่อการเกษตร ไม่เก็บ ตัดทิ้งนํ้าเกษตรพาณิชย์ออก รวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่ก็ไม่เก็บค่านํ้า เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลต้องการลดต้นทุนภาคเกษตร นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญร่างพ.ร.บ.นี้ ที่ประชุม ครม. ก็มีการถามเป็น ระยะๆ มั่นใจว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะออกมาได้ใช้ในรัฐบาลต่อไปแน่นอน”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5-8 สิงหาคม 2561