เปิดวิชั่นนายกสมาคมการตลาดฯคนใหม่ ปั้นแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

08 ส.ค. 2561 | 11:23 น.
เปิดตัวกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) คนใหม่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี (2561-2563) และ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจ สำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำผู้ประกอบการไทยก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยหัวใจนักการตลาดร่วมกันในยุคที่ดิจตอลเข้ามามีบทบาทหลักต่อนักการตลาด

ปิดพันธกิจ 4H 

“อรรถพล” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกในอดีตเกิดขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” จวบจนปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง นั่นคือจากยุคของ “อนาล็อก” สู่ “ดิจิตอล” โดยปัจจุบันข้อมูลถูกบรรจุในรูปแบบดิจิตอลแล้ว 70% และถ้าหากมีสัดส่วนถึง 90% ขีดความสามารถในการเรียนรู้และข้อมูลก็จะไร้ขีดจำกัด ซึ่งจะส่งผลกระทบมากมาย ทั้งต่อการดำเนินธุรกิจ การตลาด ทำให้สามารถเชื่อมต่อกันได้หมดในทุกองค์กร ทั้งเล็กใหญ่

[caption id="attachment_303010" align="aligncenter" width="503"] อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์[/caption]

ทั้งนี้เมื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการตลาดซึ่งมีผลต่อการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทุกๆธุรกิจ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ คือ การใช้ความเยี่ยมยอดทางการตลาด มาเป็นพลังขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Marketing Excellence as a “Competitive Force” of the Nation) ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วย 4 พันธกิจ (4H) หลัก คือ 1.สร้าง Head : แพลตฟอร์มในการรวมตัวกันของนักการตลาด (Marketing Wisdom Center) 2.สร้าง Hand : เครือข่ายผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด (Marketing Ambassador) 3.สร้าง Heart :ชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณการตลาด ที่ถูกต้องและเหมาะสม (Marketing Soul) 4.สร้าง Hope : เพื่อจุดประกายธุรกิจรุ่นใหม่ (New Generation Marketers)

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแนวคิด 4P ที่ประกอบไปด้วย Product, Price, Place, Promotion นั้นไม่เพียงพอต่อการทำตลาดในสังคมยุคใหม่แล้ว ซึ่งการทำตลาดยุคนี้แค่เพียงการขายนั้นย่อมไม่เพียงพอ แต่ทว่าจะต้องใช้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง CUSTOMER CENTRIC เป็นสำคัญเพราะผู้บริโภคยุคนี้เน้นความสะดวกสบายและรวดเร็ว ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงของการตลาดต้องตอบโจทย์ตามไปด้วย และทุกธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกัน หรือสามารถ Colaboration กันเพื่อสร้างการเติบโตได้”

MP34-3389-A

 

ขณะที่ความท้าทายของนักการตลาดยุคนี้คือ “UNLEARN TO RELEARN” คือจะต้องมีการทบทวนความรู้ โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือความสำเร็จเดิม โดยนักการตลาดจะต้องนำมาต่อยอดเพื่อสร้าง BUSINESS MODEL ใหม่ๆเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคใหม่ในปัจจุบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าและราคาเสมอไป หากแต่มีปัจจัยหลักเรื่องของความสะดวกสบายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้ออีกด้วย

ปั้นแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

นายกสมาคมการตลาดฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่การแข่งขันด้านการตลาดของไทยในปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังตํ่ากว่าประเทศอื่นๆอยู่มาก เนื่องมาจากปัจจุบันการทำธุรกิจต้องอาศัยหลักการตลาดเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้น แต่ขณะที่ไทยขับเคลื่อนด้วยระดับกลาง-ล่าง ที่ไม่มีพื้นฐานด้านการตลาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแนวทางในการพัฒนานับจากนี้คือการทำอย่างไรให้การตลาดของไทยขยับขึ้นมาอีก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการผลักดัน พัฒนากลุ่มตลาดกลาง-ล่างให้มีองค์ความรู้การผลิต การเงิน การทำบัญชี การทำตลาด เพื่อสร้างความแตกต่าง และสร้าง Telling Story ของสินค้าให้ประสบความสำเร็จให้ได้

ขณะเดียวกันนับจากนี้ไทยต้องมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดให้กับทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น SMEห สตาร์ตอัพ ภาคการผลิต การเกษตร เพื่อนำกลยุทธ์ที่แตกต่างมาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าสนใจ จนนำไปสู่การสร้าง BRANDING THAILAND ในตลาดโลก ซึ่งมองว่าไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ดีของประเทศนำมาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ ผ่านรูปแบบของวัฒนธรรมและความยั่งยืนให้แบรนดิ้งไทยแลนด์กลายเป็นที่รู้จัก ขณะที่ในส่วนของสินค้าเพื่อพัฒนาไปสู่ BRANDING THAILAND นั้น อันดับแรกผู้ประกอบการจะต้องหา PRODUCT CHAMPIONS ให้ได้เสียก่อนเพื่อหาจุดเด่นและเอกลักษณ์ในการสร้างแบรนด์

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวการตลาด

……………….……………….……………….……………….………

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,389 วันที่ 5-8 ส.ค. 2561 e-book-1-503x62