โวยกยท.กดค่าแปรสภาพยาง นํ้ายางข้นบ่นอุบขาดทุน/งบยาง 5 พันล้านจ่อครม.สัปดาห์หน้า

28 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
กยท.จ่อชงครม.งบ 5 พันล้านซื้อยางแสนตัน วงในเผย ธ.ก.ส.อิดออดปล่อยกู้ โยนบอร์ดตัดสินใจ 27 ม.ค.นี้ หวั่นซํ้ารอยจำนำข้าวได้เงินคืนช้าอดีตกรรมการ กนย.ชี้ขั้นตอนยุ่งยาก /ปริมาณรับซื้อน้อยเกิน ประเมินซื้อไม่ถึง 5 หมื่นตัน ด้านบิ๊ก ผอ.สถาบันวิจัยยาง ยันล็อกโควตาขาย ถึงรายย่อยชัวร์ ไม่ต้องรอคิว ขณะนายกสมาคมนํ้ายางข้น บ่นอุบโดนรัฐบีบค่าแปรสภาพขาดทุน 50 สต./กก. ขณะแบ่งเค้กแล้วยางแสนตันให้ 2 สมาคมรับซื้อ

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" หลังจากการประชุม ระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (25 ม.ค.)อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กับ กยท.ไปรับซื้อยางจากเกษตรกร ในราคานำตลาดปริมาณ 1 แสนตัน งบดำเนินการกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า

โดยก่อนหน้านี้ในการซื้อยางให้ใช้เงินตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีอยู่ 500 ล้านบาทไปรับซื้อยางจากเกษตรกรก่อน โดยตัวเลขการรับซื้อ ณ วันที่ 26 มกราคมมีปริมาณยางที่รับซื้อรวม 115.29 ตันจากเกษตรกร 1.154 พันคน อย่างไรก็ดีหลังจากที่ประชุม ครม. เห็นชอบแล้ว ทางบอร์ด ของ ธ.ก.ส. จะมีการประชุมในวันที่ 27 มกราคมนี้เพื่อขอความเห็นชอบที่จะดำเนินตามมติ ครม.หรือไม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวนี้มองว่าขาดทุน หลายฝ่ายเกรงจะซํ้ารอยโครงการรับจำนำข้าว

โดยจากอดีตองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เดิม ได้มีการขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มี 2 โครงการ ที่ยังปิดบัญชีไม่ได้ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 2.08 แสนตัน วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท สมัยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ใช้เงินไป 9.6 พันล้านบาท ซื้อยาง 1.3 แสนตัน โดยโครงการแรกนั้นมีการส่งคืนเงินขายยางให้กับ ธ.ก.ส.แล้วแต่ไม่มาก ส่วนโครงการที่ 2 ยังไม่ได้คืนเงินสักบาท และสัญญาเงินกู้จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ตามลำดับ หากไม่ขยายระยะเวลาทาง กยท.จะต้องเสียค่าปรับให้ ธ.ก.ส.ด้วย โดยในที่ประชุม ผู้แทนจาก ธ.ก.ส.ได้กล่าวว่า จะทำหนังสือแจ้งไปยังนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ กยท.ให้รับทราบและดำเนินการต่อไป

ด้านนายอุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน อดีตกรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 1 แสนตัน ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรมากนัก เพราะปริมาณต่อรายน้อยเกินไป(คนละ 150 กก.) ไม่คุ้มค่าขนส่งที่จะนำมาขายที่จุดรับซื้อ จึงประเมินว่ารัฐจะรับซื้อจริงประมาณ 5 หมื่นตันเท่านั้น ซึ่งจะเข้าทางพ่อค้าที่คอยดักซื้อนอกโครงการกดราคาขาย ยังได้เป็นเงินสด โดยราคาน้ำยางสด ณ วันที่ 25 มกราคม กิโลกรัมละ 38 บาท หลังจากสัปดาห์ที่แล้วขึ้นไป 40 บาท ลดลงมา 2 บาท เพราะโครงการรัฐกว่าจะขึ้นทะเบียน ตรวจสอบสิทธิ์ กว่าจะส่งชื่อให้ ธ.ก.ส.โอนเงิน ชาวสวนรายย่อยคงรอไม่ได้ เพราะต้องซื้อกินใช้ทุกวัน ส่วนสถาบันเกษตรกรเองก็ไม่กล้ารับซื้อจากเกษตรกลัวจะขายเข้าโครงการไม่ได้ ซ้ำร้ายจะขาดทุน

ด้านนายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง เผยว่า โมเดลรับซื้อยางในโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ได้ถูกออกแบบโดยปิดช่องโหว่ใน 2 โครงการในอดีตที่ผ่านมา 1. เกษตรกรเข้าไม่ถึงโครงการ ใช้วิธีการล็อกโควตาให้แต่ละราย ไม่ต้องรอคิว ขายวันไหนก็ได้ในจำนวนที่กำหนด 2.โปร่งใส ไร้ทุจริต โดยเกษตรกรจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับ กยท. กำหนดพื้นที่ไม่เกิน 15 ไร่ รายละ 150 กิโลกรัม 3. รัฐบาลไม่ต้องเสียค่าเช่าโกดัง ใช้วิธีการบริหารจัดการให้โรงงานแปรรูปดูแลสินค้าให้มีคุณภาพ

ขณะที่นายอภิชาติ พันธุ์พิพัฒน์ นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ผู้รับจ้างในส่วนโรงงานน้ำยางข้นได้ขอค่าจ้างในการแปรสภาพน้ำยางสดจากเกษตรกรเป็นน้ำยางข้นกิโลกรัมละ 5 บาท แต่ กยท.ขอปรับลดเหลือ 4.50 บาททำให้ ผู้ประกอบการขาดทุน 50 สตางค์ ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอที่จะช่วยซื้อนํ้ายาง

ด้านนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวยืนยันว่า เป็นราคา 4.50 บาท ต้องทำเพื่อช่วยเหลือชาติ ให้โครงการเดินต่อไปได้ ดังนั้นหากเกษตรกรสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่นำยางไม่ได้คุณภาพมาขาย บริษัทสามารถไม่รับซื้อสินค้าได้ เพราะยางที่รับซื้อและยางที่ขายให้กับโรงงานแปรรูปหรือปลายน้ำจะต้องเป็นยางที่มีคุณภาพ ถ้าโรงงานแปรรูปปฏิเสธการซื้อยาง บริษัทที่รับจ้างแปรสภาพยางจะไม่ได้เงินจากรัฐบาลเลย

"ส่วนกำหนดการรับซื้อคาดว่าในวันที่ 27 มกราคมนี้จะเริ่มได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการแก้ไขสัญญาให้เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการกับ กยท. ทั้งนี้ในโควตา 1 แสนตัน มีการแบ่ง สมาคมน้ำยางข้น รับซื้อน้ำยางสด กิโลกรัมละ 42 บาท จำนวน 3 หมื่นตัน ส่วน ยางแผ่นดิบชั้น 3 จำนวน 4 หมื่นตันและยางก้อนถ้วย จำนวน 3 หมื่นตัน ราคากิโลกรัมละ 41 บาท จะรับซื้อจากบริษัทในสมาคมยางพาราไทย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559