เอกชนลุ้นไทยปลดใบเหลืองไอยูยู หวังเกิน 50%-คาดรู้ผลปลาย ก.พ.

29 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
เอกชนหวังเกิน 50% ไทยหลุดใบเหลืองไอยูยู คาดรู้ผลปลายกุมภาพันธ์ ระบุไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยไปตลาดอียูในปีที่ผ่านมาสอดคล้องวงใน ศปมผ.เผยอียูส่งซิกรายงานผลประเมินผลอีก 1 เดือน บิ๊ก ทร.เข้มบังคับใช้ใช้กฎหมายตามที่อียูร้องขอ 5 ข้อหวังโชว์ผลงานโค้งสุดท้ายเข้าตา เรือ 1.62 พันลำเคว้ง เงินซื้อ 215 ล้านจมทำปะการังเทียมไม่คืบ

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะผู้แทนของสหภาพยุโรป(อียู)ได้เดินทางเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู ฟิชชิ่ง)ของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดจะมีการประเมินผลและออกประกาศสถานะว่าไทยจะหลุดพ้นจากใบเหลืองหรือไม่ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยก่อนประเมินจะติดตามการบังคับใช้กฎหมายใหม่ด้านการประมงของไทยในช่วง 3-4 สัปดาห์นับจากนี้ว่ากระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยุติธรรมตามหลักสากลหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนงานในเรือ คนงานในโรงงาน ที่ไม่มีการบังคับใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส เป็นต้น

"จากที่เราถูกให้ใบเหลืองไอยูยูเมื่อเดือนเมษายน 2558 ได้มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายในการทำประมงให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งที่ผ่านมาเรากำได้แล้วมากกว่า 60-70% และอียูได้มาแนะนำอีกหลายเรื่องเราก็ทำตาม ซึ่งปลายเดือนหน้าเขาน่าจะประกาศผล แต่ผลจะออกอย่างไรไม่ทราบ แต่การแก้ไขปัญหาของไทยทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนก็ได้ช่วยกันแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว ขณะที่เรื่องไอยูยูไม่มีผลต่อกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียูในปีที่ผ่านมา แต่ที่ลดลงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบและเงินบาทที่อ่อนค่า"

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาคมหวังเกิน 50% ที่ไทยจะหลุดใบเหลืองของอียู เพราะทุกฝ่ายได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว โดยการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสนองอียู แต่ทำเพื่อคนทั้งโลกที่ค้าขายกับไทย ซึ่งประเทศอื่นๆ สามารถนำไทยไปเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาได้ แต่หากที่สุดแล้วอียูให้ต่อใบเหลืองก็ต้องยอมรับ

แหล่งข่าวจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า ทางคณะผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรป (อียู) เดินทางกลับแล้ว คาดว่าจะส่งรายงานผลการประเมินมาให้อีก 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งทาง พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการ ศปมผ. ยังคงเดินหน้าบังคับกฎหมายอย่างเข้มงวดตามที่อียูได้ให้คำแนะนำ อาทิ การให้ความคุ้มครองการทำประมงในระยะ 12 ไมล์ทะเล เป็นต้น ขณะที่กำลังสร้างความเข้าใจกับประมงพื้นบ้าน เพื่อทำประมงที่ถูกต้อง การควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากประมง การพัฒนาสวัสดิภาพแรงงาน และปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น

"จากกรณีปัญหาเรือประมงพื้นบ้านขอให้ยกเลิกมาตรา 34 พ.ร.ก.ประมง 2558 เรื่อง เรือประมงพื้นบ้านไม่สามารถออกไปจับปลานอกชายฝั่งเกินกว่า 3 ไมล์ได้ นั้น ระหว่างนี้ทาง พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมง"

นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 ธันวาคม 2558 มีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 215 ล้านบาท มาใช้ในการซื้อ เรือประมง (อาชญาบัตรเครื่องมือผิดประเภท) จำนวน 1.62 พันลำ (ที่มายื่นเรื่องขอความช่วยเหลือ ณ วันที่ 25 มกราคม 2559) เพื่อจมทำปะการังเทียมยังไม่มีความคืบหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559