วิสัยทัศน์...‘สุทธินันท์ หัตถวงษ์’ ปั้นท่าเรือไทยศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

28 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
หากจะกล่าวถึงการคมนาคมขนส่งทางน้ำแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญนั่นคือ “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” ดังนั้น ทุกย่างก้าวขององค์กรแห่งนี้ เสมือนว่าถูกจับตามองถึงความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกทางเรือ อีกทั้งการเชื่อมโยงกับประตูการค้าชายแดนหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน เพื่อรองรับสินค้าได้อย่างเพียงพอและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้านเศรษฐกิจของไทย

หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ “ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ถึงวิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานโดยแนวทางหนึ่งนั้น เขากล่าวว่าคือการสั่งเดินหน้าแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 โซนรวมกว่า 2.3 พันไร่ ทั้งสั่งเอกซเรย์ภาพใหญ่โครงการทั้งพื้นที่ย่านคลองเตยว่าจะสามารถนำไปพัฒนารูปแบบอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากบางพื้นที่พบว่ามีการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้เปรียบเทียบแนวทางการศึกษาออกเป็น 2 กรณี เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการเลือกแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ประกอบด้วยแนวทางที่ 1 ดำเนินการตามพ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และแนวทางที่ 2 ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของ กทท. เอง

 เดินหน้าแผนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์อย่างไร

เบื้องต้นนั้นกทท.พบว่าที่ดินแปลงขนาด 17 ไร่หรือประมาณ 6.8 พันตร.ว. ซึ่งเป็นไปตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่ได้กำหนดให้พื้นที่โครงการอยู่ในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภท “พาณิชยกรรม” (สีแดง)ซึ่งตั้งอยู่ใกล้อาคารสำนักงานใหญ่กทท. เหมาะสมที่จะนำไปพัฒนาให้เป็นศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี (Maritime Business Center) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกทท. สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการท่าเรือกรุงเทพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนทั่วไปและนักลงทุนด้านการร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 วันที่ 27 มกราคม 2559 หลังจากนั้นจะเร่งนำเสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

“ที่ดินแปลง 17 ไร่นี้เบื้องต้นไม่พบว่าติดปัญหาใด ๆในการจะนำไปพัฒนา แต่เนื่องจากมูลค่าการพัฒนาโครงการเกิน 1 พันล้านบาทจึงต้องนำเข้าสู่พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ดังนั้นจึงต้องรอสคร.เคาะความชัดเจนในเรื่องรูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนว่าจะออกมารูปแบบใด ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวเนื่องจากกทท.เห็นว่ามีความเป็นไปได้ทางการเงินและการตลาด ทั้งเพื่อลดความเสี่ยงและภาระด้านงบประมาณของกทท. จึงควรบริหารจัดการโครงการในรูปแบบการให้เอกชนลงทุนพัฒนาและบริหาร แต่เนื่องจากโครงการมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท จึงต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556”

 หนุนรัฐขุดคอคอดกระเชื่อมโยงโลก

ผู้ว่าการกทท.ยังกล่าวถึงโครงการคอคอดกระว่า เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการขุดคลองเชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก เพราะถ้าสามารถขุดคลองเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงโลก และจะเป็นแหล่งพักสินค้า เปลี่ยนถ่ายสินค้า รวบรวมกระจายสินค้า ท่าเรือ รถไฟ ถนน ศูนย์โลจิสติกส์ และแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในโลเกชันที่ดีที่สุด เพราะมี 2 ฝั่งทะเลที่สามารถเชื่อมโยงทางฝ่ายผลิต เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฯลฯ อีกฝั่งก็จะเป็นฝ่ายบริโภค ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง ยุโรป ฯลฯ โครงการคอคอดกระจะส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกจริงๆ เพราะแม้แต่สิงคโปร์ก็ทำไม่ได้ เพราะสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ นี่ขนาดไม่มีพื้นที่ยังเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับโลก”

 เร่งเสริมศักยภาพท่าเรือภูมิภาค

สำหรับปี 2559 ท่าเรือกรุงเทพ และแหลมฉบัง ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ยกเว้น 3 ท่าเรือภูมิภาค คือ ท่าเรือเชียงแสน ที่มีสินค้าลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุข้อจำกัดมาจากประเทศจีนที่จะรับสินค้าบางประเภท และเข้มงวดมากในเรื่องการรับสินค้า ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งหายไปเป็นจำนวนมาก จึงต้องเดินหน้าทำตลาดให้มากขึ้น เช่นเดียวกับท่าเรือเชียงของ ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่น่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ส่งผลให้การใช้ท่าเทียบเรือน้อยลงมาก จึงไม่แน่ใจว่าในอนาคตจำเป็นจะต้องใช้ท่าเรือเชียงของอีกหรือเปล่า แต่เมื่อความเจริญเข้ามาก็ต้องยอมรับ และต้องเดินหน้าทำตลาดเช่นกัน ส่วนท่าเรือระนอง ถือเป็นอีกท่าเรือที่ต้องเดินหน้าทำตลาดให้มากยิ่งขึ้น เพราะการใช้งานเรื่องตู้สินค้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาหลักคือเรื่องขนส่งตู้เปล่า เพราะมีสินค้ามาแค่ขาเดียว ส่วนอีกขาจะเป็นการขนส่งตู้เปล่า ซึ่งถือเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ

“การบริหารทั้ง 3 ท่าเรือภูมิภาคถือว่ายากแต่ก็ต้องทำตลาดให้หนักขึ้น ล่าสุดได้พูดคุยกับทาง ปตท. ซึ่งทาง ปตท.ยังมีความต้องการใช้ท่าเรือทางภาคใต้ อีกแนวทางหนึ่งต้องเข้าไปคุยกับพาณิชย์จังหวัด และประสานกับทางสายเรือให้มากขึ้นเพื่อเร่งแก้ปัญหาตู้เปล่าให้ได้ เพราะเรื่องตู้เปล่าถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก”

แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือน แต่ด้วยวิสัยทัศน์และความตั้งใจบวกกับประสบการณ์การทำงานที่คลุกคลีกับกทท. อีกทั้งยังเป็นลูกหม้อมานาน จึงส่งผลให้เชื่อได้ว่าหลายโครงการจะสามารถทำได้สำเร็จ ส่วนจะเกิดผลเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหนนั้น ระยะเวลาจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าผู้ว่าการกทท. ทำได้ดีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการสูญเสียโอกาสจากกรณี ไร้ผู้นำองค์กรกทท.มานานข้ามปีให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเช่นที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559