6หน่วยงานเซ็นMOUเชื่อมข้อมูล เอื้อ “สตาร์ทอัพ”เข้าถึงสินเชื่อ

06 เม.ย. 2561 | 09:56 น.
6หน่วยงานเซ็นMOUเชื่อมข้อมูล เอื้อ “สตาร์ทอัพ”เข้าถึงสินเชื่อ “โฆษกก.พ.ร.”เผย อนาคตเป็นคิวของ กพท.-กรมทรัพย์สินทางปัญญา

นางอารีพันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะโฆษกสำนักงานก.พ.ร. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่าง 6 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการปกครอง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการจดทะเบียนสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันการชำระหนี้ อำนวยความสะดวก ในการได้รับสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ ช่วยให้อันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจไทย หรือ ดูอิ้งบิสิเนสดีขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุน

do3

โฆษกก.พ.ร. กล่าวว่า เป้าหมายของเอ็มโอยูฉบับนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะปกติหากเอเอ็มอีขอสินเชื่อธนาคารจะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ในการค้ำประกัน แต่เมื่อพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 บังคับใช้ ต้องการส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายจึงอนุญาตให้นำสังหาริมทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เป็นหลักประกันในการค้ำประกันการกู้ยืมได้ แต่การนำสังหาริมทรัพย์มาค้ำประกันต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ “ศูนย์ขึ้นทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินตรวจสอบได้สะดวกและแม่นยำขึ้น ดังนั้นเอ็มโอยูฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ทำให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนของแต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงมายังถึงกันหมด แทนการที่ผู้ประกอบการต้องเดินทางไปยื่นเอกสารทีละหน่วยงาน ซึ่งใช้เวลาและหลายขั้นตอน ทำให้สะดวกและลดต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ

“หลังจากมีเอ็มโอยู เมื่อคีย์ข้อมูลเข้าไปในระบบ จะโชว์ข้อมูลของสังหาริมทรัพย์ที่สามารถนำไปขอสินเชื่อได้ ว่าผู้ขอสินเชื่อมีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเรือ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่ากี่ลำ เครื่องจักรขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่าไร มีรถยนต์ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกกี่คัน ติดภาระอะไรหรือไม่ ส่วนกรมการปกครองจะดูได้ว่ามีช้างกี่เชือกที่ขึ้นทะเบียน ข้อมูลก็จะเชื่อมโยงกันมายังศูนย์ขึ้นทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด ทำให้การขอสินเชื่อง่ายขึ้น เพราะธนาคารได้เห็นข้อมูลที่เป็นจริง และลดการเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ของธนาคารด้วย”

do2

นางอารีพันธ์ กล่าวว่า การเซ็นเอ็มโอยู 5 กรม คือ กรมที่มีความพร้อมที่สุด เพราะมีฐานข้อมูลที่พร้อมเสียบปลั๊กเชื่อมโยงกันผ่านระบบออนไลน์ได้ ส่วนในอนาคตจะต้องเชื่อมโยงกับ สำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย(กพท.) เพื่อดูว่าครอบครองเครื่องบินและอากาศยานจำนวนเท่าไร และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดูว่ามีการขึ้นทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สิ่งของที่มีลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไร มาเชื่อมโยงข้อมูลได้ เพื่อให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นธุรกิจได้สะดวกมากขึ้น

do1

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวว่า ขอให้สำนักงานก.พ.ร. รายงานการเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบด้วย พร้อมกับบอกเหตุผลข้อดีของการลงนาม เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าของกระทรวง ไปเร่งรัดให้กรมอื่นๆในสังกัดที่ยังติดขัดปัญหาไปแก้ปัญหาของตัวเอง เพื่อจะได้ลงนามเอ็มโอยู ซึ่งจะช่วยให้คะแนนดูอิ้งบิสิเนสของประเทศไทยดีขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 2 เรื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาการบริการของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น

e-book-1-503x62