โรงงานวูดเพลเลตดิ้นส่งออกญี่ปุ่น จี้รัฐเจรจาจีทูจีเปิดทาง /หากไม่ได้นับถอยหลังปิดกิจการ

21 ม.ค. 2559 | 07:30 น.
โรงงานวู้ด พาเลท ส่งออกกว่า 30 โรง ลงทุนร่วม 3 พันล้านดิ้นอยู่รอด หลังตลาดใหญ่ เกาหลีใต้ลดราคาซื้อเหลือแค่ 100 ดอลล์ต่อตัน ทำขาดทุนกันระนาวต้องหยุดส่งออก ขณะหันหาตลาดญี่ปุ่นถูกเรียกหาใบการันตีไม่ใช้ไม้ยางที่มาจากการทำลายป่าผลิต จี้เร่งเจรจาจีทูจีเปิดทาง หลังพบช่องอนาคตสดใส รัฐบาลแดนซามูไรหนุน 8 บาท/หน่วยผุดโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากจากขี้เลื่อยหรือเศษวัสดุจากการผลิตไม้แปรรูป(ส่วนใหญ่เป็นไม้ยางพารา)เพื่อการส่งออกรวมกว่า 30 โรงในพื้นที่ภาคใต้กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากกรณีที่ในปี 2557 ทางโรงไฟฟ้าในเกาหลีใต้ได้ประกาศจะรับซื้อ wood pellet จากทั่วโลกในราคา 175 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันซึ่งถือเป็นราคาที่ดีมาก ทั้งนี้เพื่อนำไปผสม 3% ในถ่านหิน เป้าหมายเพื่อลดการใช้ถ่านหินลง 1.5 ล้านตันต่อปี

จากราคาที่ดีมากดังกล่าว จูงใจให้ในปลายปี 2557 ผู้ประกอบการของไทยได้พากันลงทุนตั้งโรงงานผลิต wood pellet เพื่อส่งออกไปเกาหลีใต้ แต่ครั้นเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นหรือในปลายปี 2557 ทางโรงไฟฟ้าในเกาหลีใต้ได้ประกาศลดราคารับซื้อลงเหลือเพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และได้หันไปใช้น้ำมันและถ่านหินที่มีราคาถูกลงมากเพิ่มขึ้นโดยยอมเสียค่าปรับให้กับรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการของไทยไม่สามารถส่งออกไปเกาหลีใต้ได้ เพราะไม่คุ้ม

ล่าสุดผู้ประกอบการมีความพยายามที่จะส่งออก wood pellet ไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีก 1 ตลาดใหญ่ โดยในปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ในการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้นำผู้ประกอบการ wood pellet ของไทยร่วมคณะไปนำเสนอสินค้าจำนวน 37 คน แต่ปรากฏขายไม่ได้เลย เนื่องจากทางญี่ปุ่นให้เรียกร้องให้ทางฝ่ายไทยออกใบรับรองว่า wood pellet ของไทยได้วัตถุดิบไม้มาจากการปลูกป่าแบบยั่งยืน(ตัดแล้วปลูกทดแทน)และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นไม้ที่มาจากการทำลายป่าหรือไม้เถื่อนไม่สามารถรับซื้อได้ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาการปลูกไม้ยางพาราของไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต wood pellet ไม่เคยเข้าสู่ระบบสากล ทั้งที่เป็นไม้ที่สนับสนุนปลูกโดยรัฐบาล และมีการปลูกทดแทน

"เรื่องนี้ได้เรียนให้ผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมคณะเดินทางโรดโชว์ญี่ปุ่นรับทราบปัญหาแล้ว โดยรับปากจะนำเรียนท่าน ดร.สมคิดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการเจรจากับทางญี่ปุ่นว่าไม้ยางที่เรานำมาผลิต wood pellet มาจากการปลูกป่าอย่างยั่งยืน แต่คาดเรื่องคงยังไม่ถือหูท่าน เราเลยกลับมามือเปล่า"

อย่างไรก็ตามอยากขอให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้มีการไขปัญหา เช่นการยอมรับร่วมกันในหนังสือตราครุฑที่ออกโดยรัฐบาลไทยเพื่อรับรองการปลูกป่าแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชิญฝ่ายญี่ปุ่นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และมีผลให้ทางญี่ปุ่นยอมรับและนำเข้าwood pellet จากไทยต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้วโรงงาน wood pellet กว่า 30 โรงที่ได้ลงทุนเครื่องจักรและที่ดินไปแล้วรวมกันกว่า 3 พันล้านบาท(ลงทุนเฉลี่ยรายละประมาณ 100 ล้านบาท) คงต้องปิดโรงงานถาวร จากปัจจุบันบางรายยังวิ่งเต้นขาย wood pellet ให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปยางพารา และโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเพื่อรักษาธุรกิจและคนงาน บางรายปิดโรงงานชั่วคราว เพื่อรอหวังในการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น

"ญี่ปุ่นประกาศอีก 2 ปีนับจากนี้จะใช้ wood pellet ในโรงไฟฟ้า 6 ล้านตันต่อปี โดยในปลายปีนี้โรงไฟฟ้าชีวมวลบางโรงที่เริ่มก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และอีกหลายโรงจะทยอยเสร็จในปีต่อๆ ไป โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้การอุดหนุนโรงฟ้าชีวมวลหรือไบโอแมส 24 เยนต่อกิโลวัตต์ หรือ 8 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้หากไทยสามารถส่งออก wood pellet ไปญี่ปุ่นได้ เป้าหมายการสนับสนุนโค่นยางเก่า 4 แสนไร่ต่อปีเพื่อ เพื่อซัพพลายยางที่ปัจจุบันราคาตกต่ำ หรือปลูกพืชอื่นทดแทนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมถึงโรงเลื่อยที่ปัจจุบันวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานที่โอเวอร์ซัพพลายและส่งออกไม้ยางไปจีนก็ถูกกดราคาก็จะได้รับอานิสงส์ ราคาดีขึ้นถ้วนหน้า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559