ลูกค้า12ล้านรายไม่หลุดมือแน่ ‘สมประสงค์ บุญยะชัย’ลั่น! เอไอเอสไม่ชนะ 900 ไม่ได้แปลว่าไม่สู้

19 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
ปลายปีที่ผ่านมาการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จีย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทลูกของ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ไม่ชนะการประมูลในครั้งนั้น

หลายคนประหลาดใจและตั้งคำถาม ทำไมและเพราะอะไร เอไอเอส ถึงถอยไม่ยอมสู้ต่อทั้งๆที่มีเงินหน้าตักมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ทว่าเมื่อผลการประมูลออกมาทำให้ราคาหุ้นของ เอไอเอส ปรับตัวลดลงจากราคาหุ้นที่สูงสุด 230 บาท แต่ปรากฏว่าราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 128 บาท (ราคา ณ วันที่ 6 ม.ค. 59) นั้นจึงกลายเป็นคำถามว่าทำไมและเพราะอะไร ค่ายมือถือเบอร์หนึ่งอย่าง เอไอเอส ถึงไม่สู้ราคาแข่ง ฟังคำตอบจาก "สมประสงค์ บุญยะชัย" ประธานคณะกรรมการบริหารและที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

 ราคาคลื่นเกินมาตรฐาน

"สมประสงค์ เปิดเผยว่า กรณีที่ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือของ เอไอเอส ไม่ต่อสู้ราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนั้น เนื่องจากว่ากลุ่มอินทัช เห็นว่าราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (หมายเหตุ: ราคาประมูล 2 ใบอนุญาตมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.327 แสนล้านบาท) ดังนั้นการลงทุนของกลุ่มอินทัชแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงเหตุและผล และการที่บริษัทไม่ต่อสู้ราคาในครั้งนั้น เนื่องจากมีทางเลือกอื่นๆที่สามารถลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางด้านการตลาด สามารถชนะคู่แข่งได้ บริษัทก็จะเลือกทางเลือกอันนั้น ซึ่งการลงทุนแต่ละครั้งของกลุ่มบริษัทคำนึงถึงผู้ถือหุ้นและจะต้องเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

"ใครจะมองว่าเป็นวิกฤติแต่ผมถือว่าเป็นโอกาสเราจะต้องทำให้ชนะใจลูกค้า และ บริษัทมีสถานะทางการเงินเหนือกว่าคู่แข่ง บริษัทไม่ได้มองว่าการไม่ได้คลื่นความถี่ 900 ในครั้งนี้จะเป็นปัญหาแต่เราคิดว่าเป็นโอกาส เพราะการเคาะราคาประมูลในแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและนักลงทุน การทำงานของกลุ่มบริษัทมีระบบ มีการวิเคราะห์ จึงตัดสินใจกล้าที่จะออกมา"

 การตัดสินใจต้องมีเหตุมีผล

"สมประสงค์" บอกต่ออีกว่า การประมูลในครั้งนั้นมีด้วยกัน 3 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 หลักวิทยาศาสตร์ การมีแบนด์วิดธ์จำนวน 3 แบนด์ก่อให้เกิดเน็ตเวิร์กที่ประหยัดกว่าหมายถึงคลื่นความถี่ 2100-900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ การลงทุนจะประหยัด ซึ่งความถี่ในแต่ละคลื่นนั้นไม่ได้มาฟรีๆ ดังนั้นนอกจากหลักวิทยาศาสตร์ และ ต้องคำนึงถึงหลักวิศวกรรมเช่นเดียวกันไม่ใช่มีคลื่นเท่าไหร่ก็จะต้องได้ทั้งหมด

ทางเลือกที่ 2 คือ หลักเศรษฐศาสตร์ ต้องดูต้นทุนค่าใช้จ่าย (additional cost) เท่าไหร่ และ ต้องคำนึงถึงต้นทุนรายได้ (additional revenue) อีกด้วย และ ทางเลือกที่ 3 คือ หลักธรรมาภิบาลเพราะผมและทีมผู้บริหารอยู่ในห้องประมูลทุกๆครั้งที่คีย์หรือเคาะราคาต้องเคาะและจ่ายจริงๆ ไม่ใช่พอประมูลได้คลื่นความถี่ไปแล้ว 3-4 ปีไม่จ่ายค่าใบอนุญาต ทำอย่างนั้นไม่ได้เสียศักดิ์ศรี เสียหน้า เพราะฉะนั้นการตัดสินใจต้องมีเหตุและผลและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน

 ลั่นไม่แพ้ประมูล

นอกจากนี้ นายสมประสงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "เราไม่แพ้ประมูลในครั้งนี้ เราไม่เอาเพราะราคาสูงเกินไป" จำนวนเงินที่ไม่ต้องจ่ายประมูลในครั้งนี้ นำไปซื้ออุปกรณ์ขยายเครือข่ายและดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการของ เอไอเอส เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ส่วน คือ วิศวกรรมศาสตร์และมาร์เก็ตติ้ง

"ผมกำหนดและตัดสินใจอยู่บนหลักวิศวกรรมศาสตร์และมาร์เก็ตติ้งเพราะการตัดสินใจต้องคุ้มค่าและได้ประโยชน์เพราะเราไม่ใช่เจ้าของ มั่นใจบริษัทเดินมาถูกทางและเป็นที่เห็นพ้องต้องกันของผู้บริหารทั้ง 10 คนที่ตัดสินใจไม่เคาะราคาต่อเพราะการลงทุนต้องมีระยะยาว"

 สงครามราคาเกิดยาก

แม้จะมีผู้ประกอบการรายที่ 4 (หมายถึงบริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด) เข้ามาในตลาดโทรคมนาคมนั้น แล้วจะทำให้เกิดการตัดราคาค่าบริการลงไป ไม่ได้ดูบริบทในขณะนี้ เพราะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิน 100% และ ผู้ใช้บริการโน้มเอียงไปใช้บริการด้านดาต้า (ข้อมูล) เพราะเร็วกว่าเสียง (voice) เนื่องจากการให้บริการดาต้าเร็วขึ้นกว่าเดิม จะดำเนินธุรกิจได้ต้องเรื่องเครือข่ายมีความจำเป็นค่อนข้างสูงในระดับที่แข่งขันได้ เพราะฉะนั้นผู้เข้ามาใหม่ต้องพิจารณาค่าใบอนุญาต และ การสร้างเครือข่ายเมื่อไหร่แล้วเสร็จ เพราะการติดตั้งเน็ตเวิร์กต้องหาสถานที่เพราะเป็นงานด้านวิศวกรรมไม่ใช่ทำบนกระดาษ ปัจจุบัน เอไอเอส มีสถานีฐานจำนวน 3 หมื่นสถานีมีการติดตั้งเครือข่ายแต่ละครั้งต้องสำรวจพื้นที่ ต้องเดินสายระบบสื่อสัญญาณไฟเบอร์ออพติก สิ่งเหล่านี้รายใหม่จะเอามาจากไหน

นอกเหนือจากการติดตั้งสถานีฐานแล้วเรื่องการลงทุนนั้นใช้เงินที่ค่อนข้างมาก นอกจากราคาใบอนุญาตที่จะต้องจ่ายในปีแรกแล้ว เงินทุนที่ต้องลงทุนโครงข่ายและอื่น ๆ ระหว่างทาง ที่จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตอีกครั้งในปีที่ 4 นั้น บริษัทจะต้องสร้างรายได้ด้วย ดังนั้น การตัดราคาค่าบริการในตลาดคงทำได้ยาก ส่วนสภาพหลังการประมูลคลื่น 4จี ทำให้หุ้นของทุกค่ายลดลง ไม่ใช่แค่ กลุ่มอินทัช แต่ยังเชื่อว่าเป็นไปตามสภาวะของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวนในระยะสั้น ไม่ได้เกี่ยวกับบริษัท ในอดีตเคยเกิดปัญหาหุ้นตกมาก่อน และผมเคยแก้ปัญหาด้วยการซื้อหุ้นคืน และ คาดว่าตลาดน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้

 ลูกค้า 12 ล.รายไม่หลุดมือแน่

สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 12 ล้านรายซึ่งอยู่ในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 1 ล้านราย และส่วนที่เหลืออยู่ในบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น นั้น ลูกค้าในกลุ่มนี้ ซิมการ์ดรองรับระบบ 3 จี แต่อุปกรณ์โทรศัพท์ยังไม่รองรับนั้น เอไอเอส รู้จักฐานลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นอย่างดี และ ได้จัดรายการส่งเสริมการขายให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการแจกเครื่องฟรี ซึ่งทำได้เร็วกว่าผู้ประกอบการรายอื่นเพราะได้มีการสื่อสารด้วยการส่งข้อความสั้นหรือ SMS ไปหากลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้แล้ว และ อีกไม่นานลูกค้ากลุ่มนี้จะเข้ามาในระบบของ เอไอเอส อย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559