ปั้นจีดีพี ‘ปีลิง’ ไปให้ถึง 4% ฝ่าปัจจัยใน-นอกรุม

14 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
เปิดศักราช "ปีวอก" ได้ไม่กี่วัน บนความหวังที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของไทยจะโตได้ถึง 4% (ดูตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2559 จากตารางประกอบ) เศรษฐกิจไทยต้องสะเทือนจาก “ปัจจัยเสี่ยง” การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้เป็นที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องเตรียมรับมือในปีนี้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคาด โดยเฉพาะเอฟเฟกต์ตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก !!

[caption id="attachment_26189" align="aligncenter" width="600"] เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ[/caption]

 คลังดันจีดีพีปีนี้โตได้ 4%

หันกลับมามองเป้าหมายจีดีพีของไทย ล่าสุด ( เมื่อ 11 ม.ค.59) ปลัดกระทรวงการคลัง "ดร.สมชัย สัจจพงษ์" ออกมาส่งสัญญาณจีดีพีของไทยปี 2559 จะโตได้ถึงระดับ 3.9 - 4.0% หลังจากที่รัฐบาลเตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาส แม้ว่า ก่อนหน้านี้ คลังจะยึดตัวเลขจีดีพีตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้เป็นทางการที่ 3.8% ก็ตาม

แม้ตัวเลขเป้าหมายการเติบโตที่ 4% ยังเป็นตัวเลขที่หลายๆ ค่าย ไม่ได้คาดการณ์การเติบโตไปถึงระดับนั้น และยังค้านกับมุมมองอีกด้านหนึ่งซึ่ง " ธนาคารโลก" หรือ เวิลด์แบงก์ ตอกย้ำการเติบโตของจีดีพีไทยในระดับที่ต่ำ ในแถลงรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่เปิดตัวเมื่อ มกราคม 2559 ซึ่งเวิลด์แบงก์ยังคงประเมินจีดีพีปี 2559 ของไทยจะโตเพียง 2%เท่านั้น ถือว่าโตต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เป็นตัวเลขที่เวิลด์แบงก์เคยประมาณการไว้เมื่อมิ.ย. 58)

แต่จากที่รัฐบาลตั้งเป้าปี 2559 เป็น "ปีแห่งการลงทุน" ยังเป็นความหวังว่าเมื่อโครงการลงทุนของภาครัฐขยับแล้ว จะมีแรงผลักภาคเอกชนลงทุน ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนไว้พร้อมแล้วทุกด้าน ประกอบกับเป็นที่คาดว่าปี 2559ภาคส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากปี 2558 หดตัว เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมายังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในปีนี้ต่อ

 เพิ่มเป้ารายได้ท่องเที่ยวหนุน

หนึ่งในเครื่องยนต์หลัก ที่ยังเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ "ภาคการท่องเที่ยว" โดยเมื่อ 11 มกราคม 2559 “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ประชุมหารือกับผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมอบนโยบายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. ) โดยปี 2559 ได้เพิ่มเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวจาก 2.3 ล้านล้านบาท เป็น 2.41 ล้านล้านบาท (แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.56 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวในประเทศ 8.5 แสนล้านบาท ) พร้อมกันนี้ได้จัดแคมเปญ "เที่ยวช่วยไทย" กระตุ้นคนไทยเที่ยวทุกเดือน ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวลุ้นชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท (อ่าน "เที่ยวช่วยไทย" ยาแรงปั๊มรายได้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน ที่หน้า 26)

ขณะที่ "ภาคส่งออก" แม้ปีนี้ยังต้องเหนื่อยหนัก หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจน (เวิลด์แบงก์ประเมินจีดีพีของโลกปีนี้ที่ระดับ 2.9% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.3 % )

แต่ปี 2559 ก็เป็นที่คาดหวังว่าภาคส่งออกของไทย จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เห็นได้จากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตที่ระดับ 5% แม้ว่าตัวเลขเป้าหมายการเติบโตของภาคส่งออกที่ 5% จะถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นเรื่อง "ยาก" แต่ก็ต้องเรียกว่ารัฐบาลพยายามฝันให้ไกลและไปให้ถึง ซึ่ง 20 มกราคม นี้ รองนายกฯ สมคิด ได้เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงานและแนวทางขับเคลื่อนการส่งออกของรัฐบาล ผลักดันส่งออกให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

ด้านผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “อัทธ์ พิศาลวานิช” เปิดเผยว่า ประเมินการส่งออกของไทยในปี 2559 การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 3 ปี โดยปีนี้คาดว่าส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 0.1-4.1% มูลค่า 2.14 - 2.22 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับ 2% มูลค่า 2.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 นักลงทุนกังวลปัจจัย ตปท.

ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ตรวจสอบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อไม่กี่วันนี้ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบดัชนีในเดือนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนกังวลจากสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish)

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในรอบถัดไป ปัญหาการเมืองและสงครามระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การไหลออกของกระแสเงินทุน เป็นต้น

 นักธุรกิจสะท้อนมุมบวก 12 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจทัศนคติเชิงบวกของนักธุรกิจไทย ไตรมาส 4 ปี 2558 ซึ่งสำรวจโดย " แกรนท์ ธอนตัน" ชี้ความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่อภาพรวมธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ -8  มาอยู่ที่ร้อยละ 4 ซึ่งการปรับตัวที่ดีขึ้นดังกล่าว สะท้อนผ่านผลสำรวจในด้านอื่นๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเชิงบวกเช่นกัน อาทิ การคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ ราคาขาย การส่งออก ความสามารถในการทำกำไร การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม การลงทุนในโรงงานและเครื่องจักร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น และการลดลงของความล่าช้าในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของนักธุรกิจต่อแผนการเพิ่มแรงงาน จำนวนความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งคมนาคม กลับลดลง

สัญญาณความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเริ่มออกอาการให้เห็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมันตกต่ำ ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยังไม่มีแนวโน้มให้เห็นว่าจะฟื้นตัวได้เร็วอย่างที่คาด ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงในประเทศทั้ง ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฯลฯ ต่างเป็นความเสี่ยงท้าทายต่อเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 4% เป็นเรื่อง ใกล้ หรือห่างไกลความจริง !!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559