ทางเลือกที่3แก้ยางตก ‘รุ่งโรจน์’การันตี แก้ได้

14 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
จากปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และกำลังส่งผลให้เกษตรกรในระบบราว 6.6 ล้านครัวเรือน ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอย่างมากในเวลานี้ ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะออก 16 มาตรการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ และกำลังรื้อฟื้นมาใหม่ในรอบ 2(ปัจจุบันเหลือ 15 มาตรการ) เพื่อดึงราคายางในประเทศทั้งระบบ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะช่วยทำให้ราคาในประเทศให้สูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ระหว่างที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาราคายางนี้

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "รุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล" ประธานกรรมการบริษัท เพาว์เวอร์ ยูนิตี้ จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก 2 รัฐวิสาหกิจจีนได้แก่ ซีเมค (Cmec) และปักกิ่งเกรนกรุ๊ป ให้เป็นผู้ประสานงานและอยู่ในระหว่างเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมค้ายางในรูปแบบ "การค้าร่วมทุน" (เป้าหมาย 4 แสนตัน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี) ซึ่งถือเป็นทฤษฎีทางเลือกที่ 3 ที่จะแก้วิกฤติราคายางได้แบบยั่งยืน

 โมเดลใหม่ แก้ปัญหาราคายาง

"รุ่งโรจน์" กล่าวว่า การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในหลายประเทศซึ่งรวมทั้งไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการรับจำนำ หรือประกันราคาเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหา แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ในรูปแบบ "การค้าร่วมทุน" โดยใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจเป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้วิธีนี้ในการบริหารสินค้าเกษตรไม่ให้ราคาตกต่ำ และเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น

ทั้งนี้ในรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาราคายางในรูปแบบการค้าร่วมทุนจะต้องมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจยางพารา โดยบริษัทนี้จะคล้ายกับการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. จะทำหน้าที่ซื้อยางพาราในประเทศ ราคาที่ซื้อขายในประเทศเป็นราคาต่ำบ้างสูงบ้าง แล้วนำไปขายที่ปลายทางเอง ซึ่งในช่วงแรกอาจจะขาดทุนบ้าง แต่เป้าหมายหลักก็คือต้องการให้สินค้าเกษตรในประเทศไม่ให้มีปัญหาราคาตกต่ำ

"วิธีนี้ข้อดีคือ 1. ปัญหาราคาสินค้าภายในประเทศจะนิ่งทันที 2.ไม่ต้องมาบริหารสต๊อก 3. สิ่งที่จะได้ตามมาคือตลาด แต่ทุกวันนี้เราเป็นผู้ผลิตที่รอพ่อค้าคนกลางมาทำงาน วันนี้ก็เลยตายสนิท ยางผลิตมากี่แสนตัน ต้องรอบริษัทใหญ่ส่งออก แต่วิธีการนี้คือ คุณจะต้องไปขายยางที่เมืองจีนเอง โดยผมดึงคู่ค้าจาก 2 รัฐวิสาหกิจจีน ได้แก่ ปักกิ่งเกรนกรุ๊ป เป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่ระดับชาติ ส่วนซีเมค เป็นรัฐวิสาหกิจระดับมณฑล ซึ่ง 2 รัฐวิสาหกิจนี้ มีศักยภาพสูงมากทั้งด้านโลจิสติกส์ท่าเรือและคลังสินค้า และที่สำคัญมีสถานะทางการเงินที่ดีมากระดับหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้นหากจะมาทำธุรกิจแค่ไม่กี่หมื่นล้านหรือแสนล้านบาทถือว่าเล็กน้อยมาก และสาเหตุที่ต้องการมาค้าร่วมกับไทย ด้านหนึ่งรัฐวิสาหกิจจีนเองก็ต้องการสร้างผลงาน เพราะหากไม่สร้างผลงานจะถูกลดวงเงินเรื่อยๆจากธนาคาร ดังนั้นการที่มาร่วมกับไทยนอกเหนือจากได้ผลงานแล้ว ในอนาคตรัฐบาลจีนอาจจะเพิ่มวงเงินในธนาคารให้กับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ดังนั้นจึงแทบจะไม่สนใจกำไรด้วยซ้ำไป เพราะมองเป็นธุรกิจเล็กแต่เป็นผลงานที่ต่อยอดถึงธุรกิจใหญ่ นี่แหละเป็นเหตุผลการทำธุรกิจที่วิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย"

 โอเวอร์ซัพพลาย เน้นชิงขายก่อน

ปัจจุบันจะเห็นว่าผลผลิตยางพาราทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีปริมาณรวมกันถึง 11 ล้านตันต่อปี ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมกันกว่า 9 ล้านตัน และเวียดนาม อินเดียและอื่นๆรวมกันที่ 2 ล้านตัน ขณะที่จีน ประเทศผู้ใช้รายใหญ่ของโลก มีความต้องการที่ 4.8 ล้านตัน หรือประมาณกำลังการผลิตล้อยางที่ 560 ล้านเส้น ในปี 2559 ส่วนไทยมีผลผลิตยางสู่ตลาดเฉลี่ยปีละ 3ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 3.1 แสนล้านบาท สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือขายทุกวัน เพราะสินค้าโอเวอร์ซัพพลาย ที่ผ่านมาทุกประเทศได้มีการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราขึ้นเป็นจำนวนมาก นี่คือเหตุผลที่จะต้องไปทำการตลาด ธุรกิจนี้ใครขายก่อนชนะ เพราะฉะนั้นคนที่จะไปขายก็ต้องมีทีมขายปลายทาง ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องพึ่ง 2 รัฐวิสาหกิจนี้ เพราะถ้าไม่มีก็ไปไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องมีทีมขายปลายทาง

"ทำไมทุกวันนี้คนจีนเต็มประเทศไทยเลย เพราะได้กำไรฝั่งโน้นแล้ว ก็ต้องมาหาฝั่งทำกำไรด้านวัตถุดิบ จึงเห็นว่ามาดำเนินธุรกิจสวนยางพารา ลงทุนโรงงานต่างๆ เพราะต้องการสร้างตลาดที่มั่นคงของตัวเองขึ้นมา เปรียบเทียบกับไทยหลายสิบปีที่ผ่านมาเราไม่เคยดำเนินการด้านดังกล่าวเลย จึงทำให้ไทยในฐานะผู้ผลิตถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหายางทั้งระบบของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาบริหารการตลาด สินค้าปลายทาง โดยเฉพาะประเทศจีน เพื่อเป็นการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน เพราะนอกเหนือจากจะสามารถกำหนดแผนงานในด้านการผลิตโดยใช้ตลาดเป็นตัวนำแล้ว ยังสามารถทำกำไรได้เพิ่มทั้งจากการจัดการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน และ กำไรจากการขายปลายทางด้วย"

 จัดตั้งองค์กรร่วมค้าไทย-จีน

สำหรับการค้ายางพาราไทย-จีน นั้นจะดำเนินการบริหาร บุคลากร ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ฝั่งไทยอาจจะใช้สำนักงาน กยท. ส่วนฝั่งจีน อาจจะตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ หรือในบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ได้ โดยบุคลากรของ กยท.บางส่วนจะต้องไปประจำอยู่ที่จีน และบุคลากรจีนเองก็จะต้องมาอยู่ฝั่งไทย เพื่อจะทำงานร่วมกัน โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนให้ 2 รัฐวิสาหกิจจีนจะทำหน้าที่ฝ่ายขาย ที่จะติดต่อผู้ซื้อ อาทิ โรงงานผลิตล้อรถยนต์ โรงงานถุงมือยางอนามัยและถุงมือยาง โรงงานยางยืด โรงงานเตียง และตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า จนกระทั่งซื้อขายระยะหนึ่ง จะทำให้ กยท.พอจะทราบถึงทิศทางในการตลาดฝั่งจีนแล้วก็จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ต้องไปลงทุนซื้อหุ้น ตามบริษัทต่างๆ ในโรงงานที่เกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบ ซึ่งอนาคตจะเสนอให้โรงงานต่างๆ เหล่านี้อย่างน้อยจะต้องใช้วัตถุดิบส่วนหนึ่งจากประเทศไทย ภาพโครงสร้างองค์กร ในการบริหารการตลาดยาง ของ กยท. ลำดับชาร์ตสูงสุด กยท. รองลงมา กยท.ในจีน ลำดับลงมาเป็นพวกโรงงานต่างๆ ที่ กยท.เข้าไปร่วมดำเนินธุรกิจซื้อขายยางด้วย คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 โรงงานที่ 2 รัฐวิสาหกิจจะไปช่วยเปิดให้ตลาดให้

ทั้งนี้เป้าหมายที่จะส่งไปขายยางพารา จำนวน 4 แสนตัน/ปี (ผลผลิตยางใหม่เท่านั้น) โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จะช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางตรงทั้งโรงงานล้อรถยนต์ สายพาน ไม่น้อยกว่า 150 แห่ง ยังได้พันธมิตรเพิ่มทางธุรกิจ ที่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 โรงงานเพื่อเป็นการรับประกันการระบายผลผลิตแบบยั่งยืน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 ถึง ธันวาคม 2559 ในเรื่องการค้าร่วมทุนนี้ ก่อนหน้านี้ได้เริ่มคุยกับรัฐบาลไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 แต่ปรากฏว่าไปเจรจากันหลายรอบไม่เข้าใจ ตั้งคำถามเพียงอย่างเดียวว่าจะได้กำไรเท่าไร

"จะได้กำไรเท่าไหร่มองว่าคุณตั้งคำถามผิด แต่ควรมองที่วิธีการว่าจะทำอย่างไรในช่วงซัพพลายล้นขนาดนี้ คุณจะต้องขายก่อน แล้วรีบหมุนรอบซื้อขายให้เร็ว แล้วรัฐบาลช่วยเหลือชดเชยการขาดทุนให้ วิธีนี้จะแก้ปัญหาราคายางระยะสั้นอย่างเร่งด่วน ส่วนที่ให้ 8 กระทรวงหลักมาซื้อยางไปใช้ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะกลาง ถามว่าจะช่วยกันซื้อได้เท่าไร เพราะความต้องการยางโลกอยู่ที่จีนสัดส่วน 90% และการแก้ปัญหาระยะยาวคือการสร้างรับเบอร์ซิตีเดินมาถูกทางแล้ว"

 ราคาในจีนยังยืนพื้น

ส่วนราคายางพาราตกต่ำในประเทศไทยจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ราคายางแผ่นในประเทศจีนยังคงยืนพื้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 45 บาท นี่คือเหตุผลหลักที่เราไม่ได้ไปบริหารการตลาดในสินค้าปลายทาง ได้แต่อาศัยเพียงพ่อค้าคนกลาง บริษัทของไทยรายใหญ่ก็เป็นเพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แม้แต่ชิโนเคม ก็เป็นเพียงพ่อค้าคนกลางเท่านั้น ยิ่งราคาต่ำเท่าไร ยิ่งได้กำไรมากขึ้น ดังนั้นการที่ยางพาราราคาตกและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจะต้องรีบซื้อยางตรึงราคาทันที ยกตัวอย่างวันนี้ราคายางแผ่น ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 32-33 บาทต่อกิโลกรัม หาก 2 รัฐวิสาหกิจจีนโอนเงินให้ 1 หมื่นล้านบาท จะรับซื้อยาง กิโลกรัมละ 38 บาทได้ทันที ส่งไปขายยางที่จีนอาจจะขาดทุนแค่ 1-2 บาทเท่านั้นและซื้อทุกวันไปเรื่อยๆ ถามว่าราคายางจะปรับตัวขึ้นหรือไม่ แนวโน้มจากขาดทุนพลิกเป็นกำได้ในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559