เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | 'รถไฟสายสีแดง' ตลิ่งชัน-ศิริราช เชื่อม 3 ศูนย์การแพทย์-พัฒนาคุณภาพชีวิต

12 ก.พ. 2561 | 11:49 น.
1841

โครงการ ‘รถไฟสายสีแดง’ ตลิ่งชัน-ศิริราช
จัดเป็นรถไฟส่วนต่อขยายของ ‘รถไฟชานเมืองสายสีแดง’ เพื่อแก้ไขปัญหาบริเวณฝั่งธนบุรีและรอบโรงพยาบาลศิริราช จากแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2554 ที่ได้พระราชทานเพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางและสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น

‘ประการสำคัญ’ รถไฟฟ้าเส้นทางนี้ ยังเชื่อมโยงศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ทั้ง 3 แห่ง ของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนประชาชน หรือ ผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย ด้วยบริการรถไฟฟ้า


12-3334

โครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ จะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม ให้สามารถรองรับระบบรถไฟชานเมืองที่เป็นรถไฟฟ้าได้ พร้อมปรับปรุงสถานีจำนวน 3 สถานี ของช่วงระหว่างตลิ่งชัน-ศิริราช ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน, สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี-ศิริราช แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ระยะทางเพียง 5.7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 7,469 ล้านบาท แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ล่าสุด อยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ราว 1-2 เดือนนี้ และเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้ ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2564 ดังนั้น หากโครงข่ายรถไฟตามแผนแม่บทสายสีแดงเข้ม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) ระยะทาง 80.5 กิโลเมตร, สายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) ระยะทางรวม 54 กิโลเมตร ให้บริการโครงข่ายสีแดงอย่างเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย ช่วยรัฐประหยัดพลังงานได้อย่างมาก ประการสำคัญช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางและสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25-27 ม.ค. 2561 หน้า 12

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-11-503x62