สภาหอจี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ต้นเหตุทำบาทแข็ง-ทำช้าส่งออกไทยยิ่งเสียเปรียบ

08 ส.ค. 2560 | 21:53 น.
สภาหอฯจี้แบงก์ชาติหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หลังคงไว้ที่ 1.5% มานาน 2 ปีจูงใจเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเก็งกำไรทำบาทนับวันแข็งค่า กระทบส่งออกเสียเปรียบคู่แข่งหนัก โชว์ข้อมูลรอบ 1 ปีแข็งค่ามากกว่าทุกสกุลในภูมิภาค ขณะที่ FDI ไทยตํ่าสุดในอาเซียนสัญญาณอันตราย

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อยากให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.5% ซึ่งไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงมา 2 ปีแล้ว โดยเสนอให้ลดลงเหลือ 1% เพื่อลดแรงจูงใจเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย ส่งผลให้ความต้องการเงินบาทมีมากและแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศ

ขณะเดียวกันข้อเท็จจริงอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับอัตราเงินเฟ้อของไทยมีช่วงห่างกันมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2560 อยู่ที่ -0.4%,-0.5% และ 0.1% ตามลำดับ ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้เงินเฟ้อขยายตัวเพียง 0.6% และในเดือนที่เหลือของปีนี้มีโอกาสติดลบได้อีกจากความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังมีน้อย จากอัตราเงินเฟ้อยังมีช่วงห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่มาก ทำให้ยังเป็นช่องทางเก็งกำไรของต่างประเทศ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่ามากกว่าทุกสกุลในภูมิภาค เช่นแข็งค่ามากกว่าเงินหยวนของจีน 6.2% มากกว่าเงินเยนญี่ปุ่น 10% มากกว่าเงินริงกิตมาเลเซีย 11.5% (ดูกราฟิกประกอบ) ซึ่งส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งไปยังประเทศเหล่านี้มีราคาที่สูงขึ้นเหมือนต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มในอัตราข้างต้น และสินค้าไทยที่ส่งออกไปแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ในประเทศที่ 3 ก็จะสูงกว่าทั้ง 3 ประเทศในอัตราดังกล่าวทำให้เสียเปรียบ หากเงินบาทซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นไปอีกอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ 5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่นสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผักผลไม้ต่าง ๆ จะกระทบมาก ยกตัวอย่างเราค้าขายกับจีนมากสุดเป็นอันดับ 1 ถ้าปล่อยให้บาทแข็งไปอย่างนี้เราจะเสียเปรียบ เพราะสินค้าไทยไปจีนราคายิ่งสูงขึ้น แต่เขาส่งมาบ้านเราถูกลง เราก็จะส่งออกไปจีนได้ลดลง แต่นำเข้าจะเพิ่มขึ้น และจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่เวลานี้เงินทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตราสารหนี้ต่างๆ เขาได้กำไรสูงมาก และยังมีเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงจูงใจจากต่างประเทศ”

tp8-3285-a นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไร แล้วนำเงินกลับออก ไม่ได้มีเป้าหมายลงทุนด้านการผลิตหรือบริการที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) และการส่งออกของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลของ tradingeconomics.com ระบุเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน ในจำนวนนี้มีการลงทุนในไทยตํ่าสุดมูลค่า 6,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะมีการลงทุนในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย มูลค่า 99,030, 44,900, 19,720 และ 18,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560