อีสานจม 3 พันล้าน เร่งอัดฉีดฟื้นธุรกิจ

02 ส.ค. 2560 | 10:01 น.
หอการค้าประเมินนํ้าท่วมใหญ่อีสานเสียหายยับ 1-3 พันล้านบาท สกลนครหนักสุด หลังเขตเมืองจมบาดาล วอนแบงก์ปล่อยกู้ปลอดดอก เบี้ยช่วยฟื้นฟู เกษตรฯเผยข้าวเสียหาย 3.6ล้านไร่ กกร.เชื่อฟื้นเร็วคงจีดีพีปีนี้โต 3.5-4% จับตาพื้นที่ภาคกลางยังเสี่ยงอุทกภัย

[caption id="attachment_159101" align="aligncenter" width="503"] ธนวรรธน์  พลวิชัย ธนวรรธน์  พลวิชัย[/caption]

จากเหตุนํ้าท่วมครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) จากอิทธพลพายุเซินกาที่ยังส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายได้เร่งระดมสรรพกำลังให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้วนั้น ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยได้ประเมินผลกระทบและความเสียหายด้านเศรษฐกิจในพื้นที่นํ้าท่วม ในภาพรวมเบื้องต้นคาดได้รับความเสียหายระหว่าง 1,000-3,000 ล้านบาท เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กระทบเป็นพื้นที่เกษตร ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่พื้นที่หลักด้านการพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีหาสถานการณ์นํ้าท่วมขังกินระยะเวลานานถึง 1 เดือนจะมีความเสียหายระหว่าง 3,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

นางกมลลักษณ์ นามประกาย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าสกลนคร จำกัด อดีตประธานหอการค้าสกลนคร กล่าวว่า สกลนครเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุดของประเทศ มีพื้นที่ 7 อำเภอถูกนํ้าท่วม รวมถึงเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ที่เป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด มีโรงแรม 4-5 แห่ง ร้านค้า ห้างค้าปลีก อาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร คลินิก โชว์รูมรถจักรยานยนต์ และอื่นๆ ได้รับความเสียหาย รวมถึงรถยนต์จำนวนมากที่ย้ายหนีนํ้าไม่ทันต้องซ่อมแซมหลังนํ้าลด ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นมากกว่า 1,000 ล้านบาท

[caption id="attachment_188662" align="aligncenter" width="503"] อีสานจม3พันล้าน เร่งอัดฉีดฟื้นธุรกิจ อีสานจม3พันล้าน เร่งอัดฉีดฟื้นธุรกิจ[/caption]

“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดครั้งนี้มีทั้งที่เพิ่งลงทุนใหม่ หรือมีการขยายกิจการเพิ่มเติม หากสถานการณ์คลี่คลายลง อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านภาษีต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ทำธุรกิจไม่ได้อย่างน้อย 60 วัน รวมถึงขอให้สถาบันการเงินผ่อนผันเรื่องเงินกู้ และดอกเบี้ย และให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า หรือปลอดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นฟูกิจการ”
ด้านนายสมพงษ์ ชัยยิ้ม เลขาธิการหอการค้านครพนม กล่าวว่ามี 5 อำเภอของจังหวัดที่ถูกนํ้าท่วม (นาแก วังยาง นาหว้า ศรีสงคราม เรณูนคร) ส่วนใหญ่ท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือน มีที่อำเภอนาแกที่นํ้าท่วมตลาดซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ คงต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายเพื่อประเมินความเสียหายต่อไป

เช่นเดียวกับนายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้าพิจิตร ที่กล่าวว่า พื้นที่พิจิตรมีนํ้าท่วม 12 อำเภอ ส่วนใหญ่พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ขณะที่มีนํ้าท่วมย่านเศรษฐกิจ เช่น เขตเทศบาลสากหล็ก ทับคล้อ เป็นต้น หากไม่มีนํ้าเหนือมาเติมอีกใน 1-2 วัน คาดนํ้าจะลดลงและประเมินความเสียหายได้ชัดเจน

[caption id="attachment_163319" align="aligncenter" width="503"] นายปรีดี ดาวฉาย นายปรีดี ดาวฉาย[/caption]

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวได้ 3.5-4% ตามประมาณการที่คาดไว้ ส่วนผลกระทบจากนํ้าท่วมในภาคอีสาน ยังไม่ได้เป็นวงกว้าง และผลที่เกิดขึ้นคาดจะเป็นเพียงระยะสั้น ภาครัฐและเอกชนก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ และเตรียมมาตรการเยียวยาเมื่อหลังนํ้าลด เชื่อว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ส่วนนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะนํ้าท่วมล่าสุดยังไม่ได้รวบรวมความเสียหายที่ชัดเจน แต่ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังต้องติดตามมวลนํ้าที่อาจจะไหลลงไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงในเขตภาคกลางที่อาจสร้างความเสียหาย

[caption id="attachment_78758" align="aligncenter" width="414"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เจน นำชัยศิริ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

ขณะที่ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลกระทบจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2560 รวม 34 จังหวัด เกษตรกร 4.15 แสนราย พื้นที่ประสบภัย 3.94 ล้านไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 3.64 ล้านไร่ พืชไร่ 2.8 แสนไร่ พืชสวนและอื่นๆ 2 หมื่นไร่, ด้านประมง 16 จังหวัด เกษตรกร 2.32 หมื่นราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า (บ่อปลา) ประสบภัย 1.67 หมื่นไร่, ด้านปศุสัตว์ 10 จังหวัด เกษตรกร 2.92 หมื่นราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 5.60 แสนตัว แปลงหญ้า 135 ไร่

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ว่า ยังคงมีสถานการณ์นํ้าท่วมขังใน 10 จังหวัดประกอบด้วย สกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งสิ้น 90 อำเภอ 497 ตำบล 3,472 หมู่บ้าน มีผู้สูญหาย 3 รายที่จังหวัดสกลนคร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560