โยก‘เงินฝาก’ลุยหุ้นกู้ เบรกบี/อีนอนเรตติ้ง รื้อพอร์ตหนีดอกต่ำ

29 มิ.ย. 2560 | 09:50 น.
ลูกค้าเศรษฐีไม่รอดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ทันใจ หันปรับพอร์ตโยกเงินฝากลงทุนตราสารหนี้เพิ่ม หวังผลตอบแทน 4-5% กสิกรไทย รับพอร์ตเงินฝากลดต่อเนื่องมีสิทธิแตะ 25% แนะลูกค้าซื้อตั๋วบี/อี ที่มีเรตติ้งลดความเสี่ยงผิด “ซีไอเอ็มบี ไทย” ยิ้ม 5 เดือนแรกยอดลูกค้า Preferred เข้าเป้า ทั้งปีโกยลูกค้าเพิ่ม 2 หมื่นราย

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจบริการไพรเวตแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาดและธนาคาร หากดูจะเห็นว่าเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยระยะยาวปรับลงมาตลอด จึงไม่กระทบต่อภาพรวมการพอร์ตลงทุนของลูกค้ากลุ่มมั่งคั่ง (Wealth Management) ของธนาคาร เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังเป็นบวกอยู่ ทำให้ลูกค้ายังมีผลกำไร

A2829066001 ขณะเดียวกันธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้น หากดูการแข่งขันทางด้านเงินฝากไม่รุนแรงมากนัก และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษตํ่าลง ทำให้กระแสโยกเงินฝากไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ตัวอื่นมากขึ้น เช่น กองทุนรวม พันธบัตร หรือตราสารหนี้ เป็นต้น

ปัจจุบันพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารโดยรวมจะเห็นสัดส่วนที่เป็นสินทรัพย์เงินฝากประมาณ 35-40% และสัดส่วนการลงทุนราว 60-65% โดยเป็นการลงทุนที่เป็นระบบมากกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพรวมเงินฝากจะลดลงเมื่อเทียบกับอดีต แต่เชื่อว่าเงินฝากยังคงเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องที่ลูกค้ายังคงต้องมีอยู่ในพอร์ตบริหารจัดการ (Wealth) ของลูกค้า ส่วนจะเห็นสัดส่วนเงินฝากปรับลดลงมากน้อยระดับใดนั้นอาจต้องขึ้นอยู่กับบรรยากาศลงทุนภาพรวมด้วย แต่เชื่อว่าพอร์ตเงินฝากจะทยอยปรับลดลงเหลืออยู่ในอัตรา 25-30% จากระดับปัจจุบัน

ดังนั้นจากกระแสการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ธนาคารคาดหวังจะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) ของลูกค้าเก่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากการบริหารการลงทุนให้เป็นไปตามแผนในอัตราผลตอบแทน (Yield) ที่ตั้งไว้ที่อยู่ในระดับ 6-7% จะช่วยเพิ่ม AUM ให้ลูกค้าเก่า และสามารถหาฐานลูกค้าใหม่ได้ด้วย ซึ่งในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าบริหาร AUM เติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ทั้งในส่วนของสินทรัพย์ AUM ของลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ส่วนการเพิ่มฐานลูกค้าอาจจะไม่ได้เน้นมากนัก โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 1 หมื่นราย

กรณีแลกตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของลูกค้าธนาคารแต่อย่างใด เนื่องจากธนาคารเลิกออกและจำหน่ายตั๋วบี/อีระยะสั้น โดยเฉพาะที่ไม่มีการจัดอันดับ (Ratting) ทั้งในส่วนของบริษัทหรือตั๋วบี/อี เนื่องจากการจัดอันดับจะช่วยตรวจสอบฐานะการเงิน แม้ว่าจะไม่สามารถบ่งบอกฐานะในอนาคตได้ เพราะเป็นการตรวจสอบย้อนหลัง แต่การมีเรตติ้งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง

[caption id="attachment_170960" align="aligncenter" width="295"] โยก‘เงินฝาก’ลุยหุ้นกู้ เบรกบี/อีนอนเรตติ้ง รื้อพอร์ตหนีดอกต่ำ โยก‘เงินฝาก’ลุยหุ้นกู้ เบรกบี/อีนอนเรตติ้ง รื้อพอร์ตหนีดอกต่ำ[/caption]

ดังนั้นลูกค้าที่จะลงทุนในตั๋วบี/อี ควรพิจารณา 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ 1.บริษัทมีเรตติ้งหรือไม่ 2.เป็นหุ้นกู้หรือตั๋วบี/อีที่ไม่มีนักวิเคราะห์วิเคราะห์ และ 3.ผู้จัดจำหน่าย อาจต้องดูที่มีขนาดใหญ่ เพราะจะมีการบริหารจัดการที่ดี แม้ว่าจะให้ผลตอบแทน 4% แต่ผู้จัดจำหน่ายมีขนาดเล็กก็เป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ปรึกษาทางการเงิน รักษาการผลิตภัณฑ์การออม บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตอนนี้ลูกค้ามองหาการลงทุนและกระจายการลงทุนมากขึ้น โดยโยกจากเงินฝากมาลงทุนในหุ้นกู้ระยะ 3-4 ปี ให้ผลตอบแทน 3-4% เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3-1.4% ทำให้ลูกค้ามองหาการลงทุนระยะยาวและอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก สะท้อนได้จากการขายต่อยอดผลิตภัณฑ์ จากเงินฝากมาลงทุนระยะยาวมีอัตราที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตามการจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ อาจจะต้องมีความระมัดระวัง เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การโยกพอร์ตการลงทุนอาจจะต้องพิจารณาการลงทุนให้รอบคอบ โดยการลงทุนในหุ้นหรือหุ้นต่างประเทศยังมองว่าเป็นโอกาส แต่จะต้องเลือกลงทุนเป็นเซ็กเตอร์ ส่วนหุ้นกู้ระยะสั้น 3-4 ปี กองทุนรวมต่างๆ อาจจะต้องพิจารณาที่มีเรตติ้ง รู้จักบริษัท และเห็นกระแสเงินสด ดูงบการเงิน และการลงทุนอาจจะทยอยลงทุน เช่น มีเงินลงทุน 10 ล้านบาท อาจจะทยอยลงทุน 2 ล้านบาท ดูเฉลี่ยไม่เกิน 5-10 ตัว และไม่ควร 3-4 อุตสาหกรรม

สำหรับลูกค้าพรีเฟอร์ ของธนาคารที่มีสินทรัพย์และการลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป ในช่วง 5 เดือนแรกไปได้ค่อนข้างดี มีอัตราการเติบโตทั้งในส่วนของสินทรัพย์และรายได้ และอยู่บนเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าภายในสิ้นปีเป็น 9 หมื่นราย จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 7 หมื่นราย ขณะที่สินทรัพย์ AUM ตั้งเป้าการเติบโตอยู่ที่ 20% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.89 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560