จี้ล้มกองทุนสอนเชิงก.ล.ต.ปั้นตลาดหุ้น

29 มิ.ย. 2560 | 07:55 น.
บอร์ดตลาดหลักทรัพย์นัดประชุม หาทางออกเรื่องการจัดตั้งกองทุนพัฒนาตลาดทุน ก่อนหารือร่วมกับบอร์ดก.ล.ต. สัปดาห์หน้า

**ตปท.กังวลรัฐ แทรกแซง
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ เนื่องจากจะต้องรอฟังความคิดเห็นของกรรมการแต่ละคนก่อน และจะนำผลการหารือไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในสัปดาห์หน้า

[caption id="attachment_142613" align="aligncenter" width="480"] ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย)[/caption]

นายปริญญ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีความคิดเห็นว่าควรจะถอนเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯออกไปจากการแก้ไขพรบ.หลักทรัพย์ เพราะไม่มีคนสนับสนุน หรือเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากการพัฒนาตลาดทุน

ในส่วนของก.ล.ต.สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องใช้เงินจากตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก อาทิ การรีบดำเนินคดีกับคนปั่นหุ้น การปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้ตลาดทุนเติบโตและแข่งขันเสรีได้ เช่น กฎหมายของ ก.ล.ต.เรื่องฟินเทคที่ให้ต่างชาติถือตํ่ากว่า 50% ขณะนี้แก้ได้หรือยัง เพราะไม่มีใครเข้ามาลงทุน ขณะที่ประเทศไทยต้องการเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

สำหรับการให้ใช้เงินของตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 8,000 ล้านบาท ไปตั้งกองทุน ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเอาไปทำอะไร ไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน หากต้องการนำไปช่วยสตาร์อัพ หรือเอสเอ็มอี ก็ไม่ควรใช้เงินจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะปัจจุบันเงินช่วยเหลือธุรกิจมีการสนับสนุนอยู่แล้วที่ธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (ธพว.)

[caption id="attachment_170789" align="aligncenter" width="323"] จี้ล้มกองทุนสอนเชิงก.ล.ต.ปั้นตลาดหุ้น จี้ล้มกองทุนสอนเชิงก.ล.ต.ปั้นตลาดหุ้น[/caption]

“ตลาดฯ มีเงินเหลือเก็บ 25,000 ล้านบาท และใช้จ่ายเงินปีละกว่า 200 ล้านบาท หากต้องการให้ใช้มากกว่านี้ก็ทำได้ หากภาครัฐมีโจทย์และมาพูดคุยว่าต้องการให้ทำอะไรบ้าง ถ้าต้องการพัฒนาตลาดทุนจริงๆ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชน ตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมการฯ และเอกชนเป็นผู้ดูแลกองทุนนี้ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่ดี รวมถึงความคล่องตัวในการเบิกจ่าย ขณะเดียวกันกองทุนต่างๆ ทั่วโลกเมื่อได้ยินเรื่องนี้ต่างก็มีความกังวล และอยากขายหุ้นในประเทศ ไทยทิ้ง ถอนเงินจากประเทศไทย เพราะเป็นการแทรงแซงจากภาครัฐโดยที่ไม่ควรจะแทรกแซง กฎเกณฑ์ก.ล.ต.ควรมีไว้เพื่อพัฒนาตลาดทุนมากกว่าที่มีไว้แค่การลงโทษ” นายปริญญ์กล่าว

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องมีเงินสำรองไว้ เพราะการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และด้านไอที รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคของนายจรัมพร โชติกเสถียร ใช้เงินเพื่อไปพัฒนาระบบไอทีจำนวนมาก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวันนี้ได้ รองรับโปรแกรมเทรดจากต่างชาติหลายพันล้านบาทได้ต่อวัน รวมถึงทำสิ่งต่างๆ ให้แข่งขันกับต่างชาติได้อีกหลายเรื่อง และในอนาคตความคล่องตัวในระบบไอทีต่างๆ ก็จำเป็น

อย่างไรก็ตามหากจะจัดตั้งกองทุน CMDF ต้องไม่มีการบังคับว่าต้องส่งกำไรเข้ากองทุนปีละกี่เปอร์เซ็นต์ การเฮียริ่งของสำนักงานก.ล.ต. ก็ควรเปิดกว้าง ควรจัดการประชุมให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงด้วย ไม่ควรจำกัดเฉพาะคนในวงการตลาดทุน ส่วนคณะกรรมการกองทุน ก็ควรแต่งตั้งกรรมการที่ให้เอกชนมีเสียงข้างมาก เช่น ถ้ากรรมการมี 11 คน ควรให้มีเอกชนเกิน 6-7 คนขึ้นไป และต้องเป็นคนที่รู้และปฏิบัติจริง ไม่ใช่การแต่งตั้งผู้มีคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการก.ล.ต. เหมือนที่ระบุไว้ในร่างการแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ กรรมการ ตลท.ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศ ไทย)ฯ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จำเป็นจะต้องมีเงินเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจ ส่วนการที่จะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำส่งกำไร 90% เข้ากองทุนไม่ควรระบุจำนวน 90% ในกฎหมาย และไม่ควรเกิน 50% ก่อนในช่วงแรก

แหล่งข่าวจากตลาดทุน กล่าวว่า การส่งมอบกำไรเกือบทั้งหมดเข้ากองทุน ทำให้การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ คล้ายกับรัฐวิสาหกิจที่จะต้องการเงินลงทุนเท่าไร ต้องไปขอจากกองทุน ทำให้ไม่คล่องตัว ก.ล.ต. และกระทวงการคลังควรจะดูตัวอย่างความล้มเหลวการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และก.ล.ต.ควรปรับปรุงการทำงานใหม่ เช่น ไม่ควรทำการตลาด หาสินค้า ซํ้าซ้อนกับตลาดหลักทรัพย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560