อีอีซีกระหึ่มทุนญี่ปุ่นบุก

29 มิ.ย. 2560 | 07:45 น.
สถานทูตไทยฯ สานต่อนโยบายเชิงรุกดึงกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้าพื้นที่อีอีซี ก.ย.นี้จับมือกระทรวงเมติ และ “เคดันเรน” จัดคณะผู้บริหารระดับสูงชุดใหญ่เยือนไทย เจโทร กรุงเทพฯ ขานส่งเสริม 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้านยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) จัดสัมมนาใหญ่ส.ค.นี้

**ดึง‘เคดันเรน’ลงพื้นที่
นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับญี่ปุ่น เพราะอีอีซี เป็นโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม ซึ่งเป็นฐานการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นอยู่แล้ว

[caption id="attachment_170786" align="aligncenter" width="503"] บรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[/caption]

“การพัฒนาอีอีซี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 โดยรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ขณะเดียวกัน ก็ต้องการพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็น “ฮับ” แห่งใหม่ของเอเชียที่ครบวงจร เช่น การเป็น smart city เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ และการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง โดยการขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าเรือขนาดใหญ่ในพื้นที่ ถนนหลวง และระบบรถไฟความเร็วสูงตลอดจนรถไฟขนส่งสินค้า รวมมูลค่าโครงการในระยะ 5 ปี ทั้งสิ้นประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูตฯ และทีมประเทศไทยในประเทศญี่ปุ่น เดินหน้าประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโครงการอีอีซีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ใช้โอกาสการเข้าร่วมประชุม Nikkei Forum และการประชุม High Level Joint Commission ครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น ประชาสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือกับญี่ปุ่นในโครงการดังกล่าว และได้มีการลงนามใน Memorandum of Intent หรือ เอ็มโอไอ เรื่อง EEC & Cooperation on Upgrading Industrial Structure ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรมของไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเมติ (METI หรือกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น) เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ด้วย

“ภายใต้การผลักดันของรองนายกรัฐมนตรีสมคิด เพื่อให้เกิดความรุดหน้าในเรื่องนี้ ในวันที่ 11 กันยายนศกนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ และกระทรวงเมติ โดยความร่วมมือกับเคดันเรน (Keidanren หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Japan Business Federation สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพล) จะนำคณะนักธุรกิจระดับสูงของญี่ปุ่นคณะใหญ่ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เดินทางเยือนไทยเพื่อแสวงหาลู่ทางในการขยายการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งทางคณะผู้มาเยือนจะได้เยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และได้ลงสำรวจพื้นที่จริงในอีอีซีอีกด้วย” ท่านทูตยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ท่านรองนายกฯ ได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตฯ หารือกับภาคส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้มีผลเป็นรูปธรรม และการนำนักธุรกิจเยือนไทยในครั้งนี้ จะถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ครบ 130 ปีในปี 2560 นี้

นอกเหนือจากนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นลงพื้นที่อีอีซีดังกล่าวแล้ว ในส่วนของความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในภาพกว้าง ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้านในการประชุม High Level Joint Commission (HLJC) ครั้งที่ 3 ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการหารือครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นในไทยเพิ่มเติม อาทิ การร่วมพัฒนาพื้นที่อีอีซี ภายใต้แนวคิด “4 พื้นที่เพื่อการพัฒนา 15 โครงการหลัก 5 โครงการลำดับสูงสุด ในปี 2560” ที่จะมีการลงทุน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด ตลอดจนโครงการพัฒนาเมืองใหม่ 3 แห่งในภาคตะวันออก

ส่วนการร่วมพัฒนาระบบราง นอกเหนือจากเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แล้ว ได้มีการหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีระบบรางของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนารถไฟในกทม.และปริมณฑล รวมทั้งรถไฟขนส่งสินค้าเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีบางซื่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบสถานีรถไฟ นอกจากนี้ ยังหารือครอบคลุมถึงการร่วมพัฒนาศูนย์รวบรวมข้อมูลในไทยโดยใช้เทคโนโลยีสถานีอ้างอิงและปรับข้อมูลดาวเทียมนำทาง (Continuously Operating Reference Station: CORS) เพื่อสร้างสังคมที่มีความก้าวหน้าทางระบบสารสนเทศ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบดาวเทียมเพื่อการนำร่องและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น

ในส่วนของกระทรวงเมติญี่ปุ่นนั้น ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle : EV โดยความร่วมมือกับเจโทร กรุงเทพฯ หรือองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เป็นงานสัมมนาเจาะลึกเรื่องการพัฒนายานยนต์อีวี ที่กรุงเทพฯ โดยจะมีผู้ประกอบการรถอีวีและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของญี่ปุ่นหลายบริษัทเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในเรื่องนี้ ที่จะได้พบปะกับหน่วยงานและผู้ประกอบการของญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560