‘ตะวันแดง’โดดสู้ศึกเหล้าขาว ทุ่ม 4,000 ล้านผุดโรงงาน ลั่น 3 ปีแตกไลน์ครบเซ็กเมนต์

01 ก.ค. 2560 | 00:00 น.
กลุ่มทุนคาราบาวแดง ทุ่มกว่า 4,000 ล้านบาท ปักหมุดโรงผลิตเหล้าขาว ชูราคาตํ่ากว่าคู่แข่ง 10-20%พร้อมกระจายเจาะร้านค้าทั่วประเทศ ก่อนเดินหน้ารุกนํ้าเมาทุกเซ็กเมนต์ใน 3 ปี

[caption id="attachment_170750" align="aligncenter" width="503"] เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด[/caption]

นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุรากลั่น อาทิ สุราขาว สุราสี วิสกี้ บรั่นดี ฯลฯ เปิดเผยว่า กลุ่มคาราบาวแดงก่อตั้งบริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ภายใต้การร่วมทุนของกลุ่มนักลงทุนหลักในคาราบาวกรุ๊ป 5-6 ราย มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2561 พร้อมกันนี้ยังได้ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตสุราครบวงจรบนพื้นที่ 816 ไร่ ในจ.ชัยนาท ซึ่งโรงงานดังกล่าวสามารถผลิตแอลกอฮอล์ 95% ได้สูงถึง 1.5 แสนลิตรต่อวัน

"โรงงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาตผลิตแอลกอฮอล์ 95 ดีกรี ได้ 1.5 แสนลิตรต่อวัน และเมื่อนำมาผลิตเป็นสุราแล้วสามารถผลิตได้มากกว่าวันละ 5 หมื่นขวดต่อวัน ซึ่งถือว่ารองรับแผนงานของบริษัทในอนาคตได้เป็นอย่างดี อีกทังยังสามารถรองรับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทได้ในอนาคตอีกด้วย "

สำหรับเฟสแรกของโรงงานมีกำลังการผลิตที่ 8 หมื่นลิตรต่อวัน โดยเริ่มผลิตสุราขาวกลั่นชนิด 28 ดีกรี,30 ดีกรี,35 ดีกรี, และ 40 ดีกรี ภายใต้แบรนด์ "ตะวันแดง" พร้อมออกวางจำหน่ายในช่องทางเทรดดิชั่นแนลเทรดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เฟส 2 จะใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมราว 1,000 ล้านบาท ในปลายปี 2561 เพื่อขยายกำลังลังการผลิตสุรากลุ่มอื่นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สุราสี วิสกี้ บรั่นดี เป็นต้น ซึ่งจะมีทั้งภายใต้แบรนด์ตะวันแดงและแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยวางเป้าหมายในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรในทุกเซ็กเมนต์

[caption id="attachment_170708" align="aligncenter" width="503"] ‘ตะวันแดง’โดดสู้ศึกเหล้าขาว ทุ่ม4,000ล้านผุดโรงงาน ลั่น3ปีแตกไลน์ครบเซ็กเมนต์ ‘ตะวันแดง’โดดสู้ศึกเหล้าขาว ทุ่ม4,000ล้านผุดโรงงาน ลั่น3ปีแตกไลน์ครบเซ็กเมนต์[/caption]

"การที่จดทะเบียนบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยไม่ได้ใช้คาราบาวกรุ๊ปในการจัดจำหน่าย เนื่องมาจากคาราบาวกรุ๊ป เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่อยากนำมาใช้เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมา และไม่อยากใช้ทำอะไรที่ล่อแหลมต่อข้อห้ามต่างๆในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการทำธุรกิจโรงเหล้าในไทยมีข้อกฏหมายควบคุมอยู่ ซึ่งโรงงานดังกล่าวนอกจากจะใช้ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บริษัทแล้ว ในอนาคตยังจะมีการใช้ในส่วนของการรับจ้างผลิต การร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่ให้ความสนใจในการร่วมลงทุนกับบริษัท ซึ่งมีทั้งนักลงทุนชาวจีนและชาวยุโรป"

สำหรับกลยุทธ์หลักในการขยายตลาดและสร้างแบรนด์สุราขาวกลั่นตะวันแดง ให้เป็นที่รู้จักประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ 1.เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพผ่านโรงงานที่มีเทคโนโลยีทันสมัย 2. เน้นการกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศ โดยร่วมกับร้านค้าพันธมิตรกว่า 2 แสนร้านโดยเบื้องต้นกระจายไปยังช่องทางเทรดดิชั่นแนลเทรดกว่า 40% และจะเพิ่มเป็น 80-90% ในสิ้นปีนี้

ขณะที่สิ้นปี 2561 วางเป้าหมายกระจายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุม 3 แสนร้านค้าทั่วประเทศ และ3. ชูกลยุทธ์ด้านราคา ที่ต่ำกว่าผู้เล่นรายอื่นในท้องตลาด 10-20% ควบคู่กับการสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์บีโลว์ เดอะ ไลน์เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการนำจุดเด่นเรื่องของรถกระจายสินค้าที่มีอยู่ 340 คัน รถพรีเซลล์กว่า 100 คัน เพื่อเข้าไปกระจายสินค้ายังช่องทางต่างๆ โดยปีหน้ามีแผนเพิ่มรถกระจายสินค้าเป็น 500 คัน

"ที่ผ่านมาธุรกิจสุราขาวกลั่นเคยมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่สนใจเข้ามทำตลาดเป็นอยู่ แต่ทว่าถูกผู้เล่นเจ้าตลาดดัมพ์ราคาลงมาเพื่อแข่งขัน ส่งผลให้ผู้เล่นหน้าใหม่ไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดสำคัญในการแข่งขันในธุรกิจสุราขาวกลั่นคือช่องทางการจำหน่ายเทรดดิชั่นแนลเทรดที่ต้องแข็งแกร่ง ดังนั้นบริษัทจึงชูจุดเด่นของร้านค้าพันธมิตรที่มีกว่า 2 แสนรายเข้ามารองรับและกระจายสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นหลักได้"

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายที่จะมียอดขายในปีแรก 1 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดราว 10% จากภาพรวมสุราขาวกลั่นในเมืองไทยปัจจุบันที่มีมูลค่า 8 หมื่นล้านบาทและมีการเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี ซึ่งกลุ่มสุราขาวถือว่าเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตเป็นลำดับต้นๆในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ขณะที่ภาพรวมตลาดสุราทั้งหมดมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และตลาดเบียร์มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560