พาที สารสิน โชว์แผนฟื้นแวลู‘นกแอร์’

30 มิ.ย. 2560 | 23:30 น.
การจัดทำ Turnaround Plan หรือแผนพลิกฟื้นธุรกิจของนกแอร์ในขณะนี้ ไม่เพียงจะนำไปสู่การ เพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง(PP) ที่จะต้องเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ ที่จะสร้างแวลู ของนกแอร์ ให้กลับคืนเหมือนเดิมอีกครั้ง ซึ่งหัวใจของแผนดังกล่าวมีสาระสำคัญอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

++ดึง เวย์น เพียร์ซ ทำแผน
พาที เผยว่า ในขณะนี้นกแอร์ อยู่ระหว่างการจัดทำ Turnaround Plan (แผนพลิกฟื้นธุรกิจ) ที่จะทำให้นกแอร์ กลับมามีกำไรอีกครั้ง ซึ่งแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในอีกไม่นานนี้ และจะเข้าบอร์ดนกแอร์ได้ในการประชุมบอร์ดในเดือนหน้า โดยแผนดังกล่าว จะทำให้เราสร้างแวลูของนกแอร์ ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเป้าหมายแรก คือ ในปีนี้นกแอร์ จะลดปัญหาการขาดทุนลง และจะมีทิศทางผลประกอบการในทางบวกในปีหน้า

การจัดทำแผนในครั้งนี้ผมได้เชิญ นายเวย์น เพียร์ซ (ที่ปรึกษา นายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตดีดีการบินไทย) เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ในการร่วมทำแผนในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ารู้จักตลาดของเราเป็นอย่างดี ไม่เกี่ยวกับการบินไทยแต่อย่างใด และค่าจ้างก็ไม่สูง เพราะนกแอร์เป็นโลว์คอสต์ รวมถึงยังได้ นายโรเบิร์ต เอ็ม.เจ.วอร์ด เข้ามาช่วยเรื่องของการทำรีรู้ท เครื่องบินให้นกแอร์ด้วย

พาที ยอมรับว่า ที่ผ่านมาแวลูของนกแอร์ที่มันค่อนข้างแย่ทั้งหลายเรื่อง เกิดจากปัญหาที่เราผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักบินลาออกพร้อมกัน 29 คน เครื่องยนต์ที่ถึงรอบต้องซ่อมบำรุง 12 เครื่องยนต์ จากเครื่องบินราว 6-7 ลำ ทำให้ในปีที่ผ่านมา นกแอร์ ประสบปัญหาการขาดทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเราเสียหายไปมาก เพราะต้องยุ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนักบิน เครื่องยนต์ ทำให้ทุกคนมีความคิดว่าเราสูญเสียในเรื่องของโพซิชั่นนิ่งในการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ไป

++ เดินแผนรีแคปสร้างแวลู
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำวันนี้ คือ เราต้อง รีแคป (การปรับปรุงโครงสร้างเงินทุน) และทำให้เรามีโพซิชั่นนิ่ง ในการทำงานของนกแอร์ให้กลับมาเหมือนเดิมก่อน นั่นหมายถึงเราต้องขยับออกมาหรือถอยออกมานิดนึง เพื่อคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เราขาดทุนก่อน แล้วจุดนี้มันก็จะสร้างแวลูของเราให้กลับมา
เขาย้ำว่า ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการแก้ปัญหาและสร้างนักบินขึ้นมาทดแทนได้แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาเหมือนในอดีต แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักตอนนี้ คือ การเน้นเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งแผนพลิกฟื้นธุรกิจ เราต้องทำเรื่องความชัดเจนของการลดค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ อะไรที่มันไม่จำเป็น บางอันที่มันเยอะเกินไป ก็ต้องลดคอสต์ลงมา บางเรื่องก็ฐิปาถะเล็กๆน้อย แต่บวกๆกันมันก็เยอะนะ แต่มันก็ต้องค่อยๆทำ ซึ่งมีทั้งเรื่องของรีฟอร์แมท, รีสตรัคเชอร์, รีทุกอย่าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงไป ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้เพิ่ม

“ปีนี้เราจะขาดทุนลดลง และเราพูดถึงออปชั่นในปีหน้ามากกว่า เพราะการลดคอสต์ต่างๆ ไม่ได้เห็นผลทันทีทันใดเดี๋ยวนี้ มันลดลงมาเรื่อยๆ แล้วมันจะรีเฟคทีฟมายังทิศทางบวกอย่างสมบูรณ์100% ในปีหน้า ยกตัวอย่างเรื่องปัญหานักบิน เราก็ค่อยๆสร้างขึ้นมา จนมันไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป การลดค่าใช้จ่ายก็เหมือนกัน ผลจะออกมาอย่างเด่นชัดก็ในปีหน้า”

++โล๊ะเครื่องบินเก่าพ้นฝูงบิน
ทั้งนี้การลดค่าใช้จ่ายต่างๆตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ หรือการดำเนินงานต่างๆของบริษัท อันไหนที่ทำได้ว่าเหตุผลเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย เราก็ได้ทำไปบ้างแล้ว อย่าง การปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานนาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูง เราก็ทยอยปลดออกจากฝูงบินไปบ้างแล้วราว 3 ลำ เมื่อช่วง 3-4 เดือนก่อน จากจำนวนฝูงบินที่มีอยู่เดิม 33 ลำ

[caption id="attachment_170404" align="aligncenter" width="427"] พาที สารสิน โชว์แผนฟื้นแวลู‘นกแอร์’ พาที สารสิน โชว์แผนฟื้นแวลู‘นกแอร์’[/caption]

ปัจจุบันนกแอร์มีฝูงบินรวม 30 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 20 ลำ เครื่องบิน Q400 เน็กซ์เจน 8 ลำ และเครื่องบินเอทีอาร์ 72-500 จำนวน 2 ลำ และเรากำลังจะรับมอบเครื่องบอนโบอิ้ง 737-800 อีก 1 ลำในเดือนกันยายนนี้ ส่วนการรับมอบเครื่องบินใหม่ในปีหน้า ยังต้องรอการจัดทำแผนพลิกฟื้นธุรกิจให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะบอกได้ชัดเจนว่าเราต้องการเครื่องบินใหม่ที่จะเช่าเข้ามาอีกหรือไม่ หรือควรจะเป็นกี่ลำ

ส่วนการบริหารงานในองค์กร และการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ เราก็สามารถทำไปได้ ภายใต้วงเงินที่ได้รับมา 1.2 พันล้านบาท จากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมเมื่อครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งก็เพียงพอนานอยู่ เพราะการลดคอสต์ที่เราก็ลดลงไปไปได้

++เพิ่มทุนรอบใหม่ขยายธุรกิจ
อีกทั้งแผน Turnaround Plan ที่จะต้องให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อน เพื่อจะได้รู้นกแอร์ มีความต้องการที่จะเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง(PP) อีกเท่าไหร่ ถึงจะไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มพันธมิตรที่ก็มีคนสนใจนกแอร์อยู่แล้ว ซึ่งจะนำนำแผนเข้าบอร์ด รอให้บอร์ดอนุมัติก่อน ถึงจะประกาศPP และทำดีลลิเจ้นท์ โปรเจค มันก็จะออนโกอิ้ง ซึ่งการเพิ่มทุนรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น นกแอร์ มองไปถึงการลงทุนขยายเน็ตเวิร์คใหม่ๆในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวสูงมาก

โดยเราหวังทื่จะขยายจุดบินสู่ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นกแอร์ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศรวม 24 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 3 เส้นทาง สู่ย่างกุ้ง เมียนมา รวมถึงนครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอยของเวียดนาม

การขยายจุดบินเข้าสู่จีนที่ผ่านมา นกแอร์เริ่มเปิดให้บริการในลักษณะเที่ยวบินเช่าเหมาลำบ้างแล้ว แต่ในปีนี้เราจะขยายเข้าจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งที่เป็นทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเที่ยวบินแบบประจำ ซึ่งเรามองจุดบินในจีนว่าจะเปิดได้ 5 เส้นทางในปีนี้ โดยเราจะเริ่มทำการบินแบบเช่าเหมาลำก่อน และศึกษาตลาด เส้นทางไหนมีดีมานต์สูง ก็จะเปิดให้บริการเที่ยวบินแบบประจำ ทุกอย่างเป็นสเต็ปบายเสต็ป

อย่างเดือนกรกฏาคมนี้ นกแอร์จะเปิดบินเส้นทางสนามบินดอนเมือง-เจิ้งโจว เมืองเอกของมณฑลเหอหนาน ความถี่ราว 2-3 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามความร่วมมือระหว่างนกแอร์และบริษัท Henan Civil Aviation Development & Investment Co., Ltd (HNCA) บริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินพลเรือนในมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้มีการเซ็นเอ็มโอยูกันไว้ ถึงความร่วมมือด้านการโอเปอเรชั่น ในลักษณะของการเชื่อมโยงเดสติเนชั่นระหว่างกันไทยและจีน

“การร่วมมือกันระหว่างนกแอร์ และ HNCA ทุกคนชอบพูดกันถึงเรื่องการเข้ามาถือหุ้น ในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ(Strategic Partner) มันไม่ใช่อย่างนั้นอย่างเดียว เพราะคีย์หลัก คือเรื่องของโอเปอเรชั่น ระหว่าง 2 ประเทศก่อน เริ่มในสิ่งที่อยู่ใกล้ก่อน ส่วนดีลตอนนี้ยังพูดไรมากไม่ได้ เพราะต้องรอทำแผนให้เสร็จก่อน”

[caption id="attachment_170402" align="aligncenter" width="503"] พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

++รุกโหมตลาดโซเซียล
นายพาที ยังย้ำอีกว่า การจัดทัพดึงแผนฟื้นวิกฤต มันไม่ได้ยาก หรอก วันนี้เราจะเริ่มเห็นกันในตลาดการบินแล้วว่า สงครามราคาตั๋วเครื่องบิน อย่างราคา 300 บาทแทบไม่มีแล้ว เพราะทุกคนรู้ว่าไม่ไหว ราคาตั๋วเครื่องบินก็เริ่มคงที่ขึ้น สถานการณ์ก็ดีขึ้น และเงินที่เราได้รับจากการเพิ่มทุนครั้งก่อน 1.2 พันล้านบาท เราก็ทำได้ในระดับวงเงินเท่านี้ ทำไปก่อนว่าจะขยับขยายในจุดได้ ส่วนเรื่องการขยายอย่างเต็มที่ก็ต้องรอว่ากันต่อไป หากบอร์ดนกแอร์ อนุมัติเรื่องของการเพิ่มทุน

ส่วนเรื่องการทำตลาดในขณะนี้ก็จะเห็นว่าเรารุกโซเชี่ยลมากขึ้น มีทีมเข้ามาทำงานเต็มที่ ล่าสุดได้ออกแคมเปญ Nok Air Promise ซึ่งเป็นแคมเปญบ่งบอกความตั้งใจของพนักงานนกแอร์ทุกคนผ่านโซเชี่ยล มีเดีย พร้อมติด แฮชแท็ก จากใจนกแอร์ สื่อให้เห็นว่านกแอร์สัญญาว่าจะพัฒนา ปรับปรุง ทุกอย่างให้ดีขึ้น เพื่อรอยยิ้มของผู้โดยสาร และมีการร่วมสนุกแจกตั๋วเครื่องบินฟรีให้กับแฟนเพจด้วย ซึ่งปีนี้เราตั้งเป้าว่าจะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ราว 82-83% เพิ่มจากเดิมที่อยู่ที่ราว 80%

ประกอบกับแผนพลิกฟื้นธุรกิจที่กำลังเดินหน้า ก็จะทำให้นกแอร์ สร้างแวลูในการดำเนินธุรกิจกลับขึ้นมาอีกครั้ง นายพาที ปิดท้ายบทสนทนา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560