‘ไทยจะไม่ถูกโจมตีค่าเงินอีก’ กลไกลอยตัวยังรับมือไหว ?

30 มิ.ย. 2560 | 21:50 น.
แม้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่วิกฤตต้มยำกุ้งยังถูกจดจำมาตลอด วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นเริ่มแสดงตัวในปี 2539 ก่อนลุกลาม กระทั่งมาถึงจุดฟองสบู่แตกใน วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อกระทรวงการคลัง ประกาศลอยตัวค่าเงิน ไฮไลท์ของโศกนาฎกรรมครั้งนั้นคือช่วง 5 เดือนแรกของปี 2540 ที่แบงก์ชาติเปิดสงครามเงินตรากับฝูงเฮดจ์ฟันด์ต่างชาติ ก่อนจบลงด้วยผลอย่างที่ทราบกัน เรา-ประเทศไทยสูญ เงินสำรองระหว่างประเทศ มหาศาล (36,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาระสว๊อป 15,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และนำมาสู่ความล่มสลายของเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ในที่สุด

ประเทศไทยมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีค่าเงินเช่นปี 2540 อีกหรือไม่ ? และ วิธีกำหนดค่าเงินด้วยระบบลอยตัวยังสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ? “ฐานเศรษฐกิจ” สนทนากับผู้รู้ด้านเศรษฐกิจซึ่งมีประสบการณ์ร่วมกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นแตกต่างกันออกไป ดังนี้

[caption id="attachment_170394" align="aligncenter" width="305"] ดร.ทนง พิทยะ นักวิชาการอิสระ อดีตรัฐมนตรีคลัง ดร.ทนง พิทยะ นักวิชาการอิสระ อดีตรัฐมนตรีคลัง[/caption]

1.ประเทศไทยมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีค่าเงินเช่นปี 2540 หรือไม่ ?
**“แทบไม่มีโอกาสเกิด”
ดร.ทนง พิทยะ นักวิชาการอิสระ อดีตรัฐมนตรีคลัง ผู้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ยืนยันแทบจะทันทีที่ได้ฟังคำถามว่า “ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีโอกาสถูกโจมตีค่าเงิน แทบไม่มีโอกาสเกิด หรือมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย” เหตุผลของเขา คือ ปัจจุบันแบงก์ชาติมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ ( ณ เม.ย.2560 เท่ากับ 184,469.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เมื่อ เทียบกับเงินกู้ระยะสั้น(ระยะเวลาไม่เกิน1ปี)ที่นำเข้ามาในประเทศไทย หรือเงินกู้ระยะสั้นเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ รวมกันแล้วยังมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสำรองเงินตราระหว่างประเทศ “ดังนั้นผลกระทบจากเงินที่ไหลเข้าออก ก็ยังไม่มีผลมากพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ” ดร.ทนงย้ำอีกครั้ง

**“อย่าชะล่าใจ”
ส่วนบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค,) ตอบคำถามเดียวกันนี้ โดยเริ่มต้นว่า “วิธีป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำที่ดี ก็คือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่หากเกิดอีกรอบ คนที่ได้รับผลกระทบมากสุดจะเป็นประชาชนระดับล่าง ดังนั้นอย่าชะล่าใจ แม้โอกาสจะเกิดน้อยก็ตาม ที่ผมพูดเช่นนี้ ว่าโอกาสเกิดได้น้อย เพราะหลังวิกฤติปี 2540 ไทยรักษาวินัยทางการคลังได้ดี กล่าวคือก่อนปี 2540 หนี้สาธารณะไทยต่อจีดีพีอยู่ระดับต่ำมาก แต่หลังปี 2540 มีการโอนหนี้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นของรัฐ ( หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ) ส่งผลให้หนี้สาธารณะหลังจากนั้นมีระดับสูงขึ้น ( สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 35.16 % ) และ ณ เดือนเมษายน 2560 อยู่ที่ 42.64% กระทรวงคลังประเมินว่าหลังรัฐก่อหนี้ลงทุนในโครงการลงทุนเมกกะโปรเจ๊กต์แล้ว สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในอนาคตก็จะไม่เกิน 50 %

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก สศค. ชี้ว่าบทเรียนที่ได้จากวิกฤติต้มยำกุ้งคือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า The impossible trinity หรือ เหตุการณ์ 3 อย่างที่ขัดกันคือ คือ หนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ สอง การกำหนดนโยบายอิสระ และสาม การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ทั้งหมดไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน “ หากกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่จะทำให้ประเทศต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอิสรภาพในการใช้นโยบายทางการเงิน หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี หรือหากธนาคารกลางกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนและใช้นโยบายการเงินในการบริหารเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ประเทศนั้นต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน”เขาขยายความ

mp25-3274-a ** “ 2540กับปัจจุบันแตกต่างกัน”
อีกมุมมอง ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่เริ่มงานในปี 2541 หรือ 1 ปีหลังวิกฤติตอบคำถามนี้ว่า “ สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 กับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือในปี 2540 ประเทศไทยตรึงค่าเงิน เงินเฟ้อสูงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 7-8 % (ต่อจีดีพี) ส่งออกไทยต่ำกว่านำเข้า เขาชี้ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเวลานั้น สะท้อนว่าไทยต้อง พึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศ เพื่อชดเชยเงินออมที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนจำนวนมากในขณะนั้น นอกจากนี้การตรึงค่าบาท ยิ่งไปสนับสนุนให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดให้หนักไปกว่าเดิม เพราะในทางปฏิบัติหากต้องการกระตุ้นการส่งออกยิ่งต้องทำให้เงินบาทอ่อน

ดร.พิพัฒน์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงนั้นว่า ขณะที่ส่งออกน้อยกวาการนำเข้า เรา (ประเทศไทย) กลับไปตรึงค่าเงินบาท ซึ่งเท่ากับว่าเงินบาทขณะนั้นแข็งค่าเกินความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงเป็นเป้าหมายให้ต่างชาติโจมตีเก็งกำไรจากค่าเงินได้ง่าย โดยการขายเงินบาทออกและซื้อดอลลาร์ ซึ่งหลังจากบาทอ่อน ดอลลาร์แข็ง เงินสำรองเราก็หมดเกลี้ยง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยดีมาก แต่โตช้า แต่ปี 2540 เสถียรภาพเศรษฐกิจแย่แต่โตเร็ว

2.ระบบลอยตัวยังใช้ได้อยู่ ?
กลไกกำหนดค่าเงินลอยตัวแบบมีการจัดการที่ธปท.นำมาใช้ กำหนดค่าเงิน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ?

** “...เสรีแต่มีการป้องกัน”
คำถามนี้ อดีตรัฐมนตรีคลังทรง ตอบคำถามนี้ด้วยการอธิบายว่า การกำกับดูแลไม่ให้มีการไหลเข้าออกของกระแสเงินตราต่างประเทศนั้น ๆ กระทบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรงที่เกินความพอดี ตรงนั้นคือสิ่งที่ธปท. จำเป็นต้องคอยดูแลบริหารจัดการ ดังนั้นประเทศไทยตอนนี้เป็นระบบซึ่งสามารถกำกับดูแลการไหลเข้า-ออกของเงินตราระหว่างประเทศ แม้ว่าจะเป็นระบบเสรี แต่ก็มีการป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไรเกินควร มีการดูแลให้มีความพอดีต่อปริมาณเงินไหลเข้า-ออก ไม่ให้เงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้าเป็นต้น คำอธิบายข้างต้นแม้ไม่ชี้ชัดแต่ก็บอกเป็นนัยว่า กลไกกำหนดค่าเงินปัจจัยยังโอเคอยู่

**“...ไม่จำเป็นต้องทำอะไร”
สำหรับ ดร. พิพัฒน์ ระบุว่าจุดเปลี่ยนของการดูแลค่าเงินคือเมื่อธปท.ช้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ( The Impossible Trinity ) มาใช้ในปี 2543 “ ...คือเราใช้ดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดนโยบายการเงิน หรือใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือค่าเงินไม่ให้ผันผวน”...แต่ไม่ได้กำหนดหรือควบคุมทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการปล่อยให้เป็นไปตามดีมานด์ และซัพพลายของตลาด แน่นอนอาจมีช๊อตในบางช่วงขณะ แต่โอกาสที่จะถูกโจมตีหรือเก็งกำไรค่าเงินอย่างรุนแรงเช่นปี 2540 แทบไม่เกิด

เขาให้เหตุผล ว่าเมื่อเรา(ประเทศไทย) ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกำหนดนโยบายการเงิน และปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว มีการขาย- ซื้อตาม ดีมานด์และซัพพลายของตลาด แน่นอนย่อมมีทั้งฝ่ายที่ lose – win (แพ้และชนะ) เมื่อค่าบาทแข็งและอ่อนอยู่แล้ว เพียงแต่ฝ่ายที่เสียผลประโยชน์จากบาทแข็งในไทย มักจะเสียงดัง แต่ล้วนมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์อยู่แล้วเช่นกรณีบาทแข็ง คนเติมน้ำมันรถ ก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว

ดร.พิพัฒน์ระบุว่าปัจจุบันประเทศเปรียบเหมือน Save haven ( .โซนลงทุนที่ปลอดภัย) ใคร ๆก็อยากจะเข้ามา โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำอะไร ก็มีทุนไหลเข้าอยู่แล้ว เพราะไทยอยู่ในฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (บวกดุลบริการจากการท่องเที่ยว) อย่างสิ้นปี 2559 ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี เป็นบวกถึง 11% ที่กล่าวว่าเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย เพราะเรามีเงินตราต่างประเทศจากส่งออกที่เกินดุลมากกว่าการนำเข้า และมีทุนสำรองทางการยังแข็งแกร่งสูงถึง 1.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ต่อจีดีพีด้วยแล้ว ประเทศไทยจัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีทุนสำรองสูงสุดระดับโลกก็ว่าได้

ประมวลความเห็นจากผู้รู้ข้างต้นแม้ไม่การันตีถึง 100 %ว่าไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อการโจมตีค่าเงินเหมือนปี 2540 อีก แต่ก็ใกล้เคียงๆเป็นอย่างยิ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560