เบื้องหลัง‘ฟองสบู่’สหกรณ์แตก เปิดช่องลงทุน หุ้นกู้-ทุจริต

20 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ปะทุขึ้นในปี 2556 ก่อนล้มครืนลงในปีถัดมาสร้างความตื่นตะลึงให้กับอุตสาหกรรมการเงิน เพราะคาดไม่ถึงว่าสหกรณ์ซึ่งเปรียบเหมือนแหล่งทุนสุดท้ายของชาวบ้านจะเผชิญปัญหาการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเช่นเดียวกับแบงก์ หรือ สถาบันการเงินหลายแห่งในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดโปงภายหลัง พบว่ากลวิธีที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้บริหารสหกรณ์ฯคลองจั่นขณะนั้น ยักย้ายถ่ายเงินของสมาชิกไปสู่กลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองด้วยการปล่อยกู้ให้กับบริษัทและกลุ่มบุคคล หรือลงทุนกิจการในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย การฉ้อฉลดังกล่าวส่งผลให้สหกรณ์คลองจั่นซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 56,000 คนได้รับความเสียหายรวมกันไม่น้อยกว่า 2.1 หมื่นล้านบาทจนกระทั่งสหกรณ์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในที่สุด

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น มีสหกรณ์อีกหลายแห่งจากหลายภูมิภาค ประสบปัญหาจากการบริหาร ไม่ตรงไปตรงมาของ กรรมกา รสหกรณ์เช่นเดียวกับกรณีของสหกรณ์คลองจั่น อาทิ กรณีสหกรณ์ 35 แห่งร่วมมือกับบริษัทค้าปุ๋ยล่วงหน้า จนสหกรณ์บางกรวย ได้รับความเสียหาย หรือสหกรณ์ยางชุมศรีสะเกษ ที่กรรมการปล่อยกู้ด้วยการประเมินมูลค่าทรัพย์สินสูงเกินความเป็นจริงจนสหกรณ์เกิดปัญหาสภาพคล่อง บางสหกรณ์เจ้าหน้าที่ปลอมลายเซ็นสมาชิกกู้เงิน ซึ่งเป็นกลเม็ดที่พบได้ในสหกรณ์อีกหลายแห่ง (ดูตารางประกอบ) สถานการณ์ดังกล่าวไม่ต่างจาก “ฟองสบู่สหกรณ์แตก”และรุนแรงพอจะเรียกว่าเป็น“วิกฤติ” กระทั่งมีความกังวลว่าสถานการณ์จะลุกลาม แม้ขนาดสินทรัพย์ของสหกรณ์ 8,704 แห่งทั่วประเทศรวมแล้ว 2.3 ล้านล้านบาทเป็นอันดับ 3 รองจากแบงก์พาณิชย์ และ ธนาคารเฉพาะกิจตามลำดับ แต่สมาชิกทั่วประเทศมีมากกว่า 3.2 ล้านคน

วิกฤติที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาของสหกรณ์ในช่วง 5 ปีที่เศษที่ผ่านมาไม่ใช่ปัญหาของ “บางสหกรณ์” แต่เป็นปัญหาของระบบวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนายทะเบียนและกฎหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีหลายปัจจัยเชื่อมโยงกัน ที่ทำให้สหกรณ์หลายแห่งเกิดปัญหาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเริ่มจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ไม่สมดุล แบงก์พาณิชย์ให้อัตราดอกเบี้ยตํ่ามาก ทำให้เงินไหลเข้าสู่สหกรณ์ออมทรัพย์กรรมการต้องเร่งหาทางลงทุนให้เกิดผลตอบแทน ปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยกู้ผิดระเบียบ หรือสมาชิกกู้เกินตัวด้วยการสร้างหลักฐานการเงินเท็จ

ประเด็นเดียวกัน อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงปัญหาสหกรณ์ที่ปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ว่ามาจากปัญหาหลักๆดังนี้

1. สภาพคล่องไหล เข้ามาในระบบสหกรณ์มากสหกรณ์เสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3-3.5%สหกรณ์บางแห่งที่ร้อนเงิน เช่นสหกรณ์คลองจั่นเสนอดอกเบี้ยเงินระหว่างสหกรณ์ด้วยกันถึง 5-7%

2. การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นทั้งหุ้นกู้และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มขึ้น

3. มาจากปัญหาสหกรณ์ปัจจุบันใหญ่ขึ้นรวยขึ้น เช่นสหกรณ์เกษตร แต่แตกไลน์ไปทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับสหกรณ์ เช่น ปั๊มนํ้ามันเต็นท์รถมือ 2 บ้านจัดสรร หรือกรณีสหกรณ์กรุงเทพฯ เอาสำนักงานใหญ่ที่ปิ่นเกล้าให้เอกชนทำโรงพยาบาล 30 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าหลังปี 2540 ถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอื่นของสหกรณ์ อย่างต่อเนื่องถึง 4ครั้ง เริ่มจากปี 2542 แก้ไขโดยเพิ่มเติม อาทิ ให้สหกรณ์สามารถซื้อหุ้นสหกรณ์อื่น ให้ฝากหรือลงทุนอื่นตามที่คพช.กำหนดเป็นต้น ปี 2543 แก้ไขให้สหกรณ์สามารถลงทนุ ใน บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรอง ฯลฯ

ต่อมาในปี 2550 มีการแก้ไขครั้งสำคัญ ให้สหกรณ์สามารถลงทุน ในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไปจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คพช.อนุญาตให้สหกรณ์สามารถลงทุนในหุ้นกู้และหุ้นสามัญได้ถัดมาปี 2552 แก้ไขเพิ่มเติมให้สหกรณ์สามารถลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่นิติบุคคลเฉพาะกิจเป็นผู้ออกภายใต้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.ก. นิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และตราสารแสดงสิทธิในหนี้นั้นได้รบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไปจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.

ส่วนการแก้ไขครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี 2558 คาบเกี่ยวกับที่ปัญหาสหกรณ์ฯคลองจั่นระอุเกือบถึงขีดสุด ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณอยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ บอกว่า วัตถุประสงค์ของการแก้ (ข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์) เพื่อควบคุมการลงทุนของสหกรณ์ให้รอบคอบ ลดการลงทุนที่มีความเสี่ยง คือเราแก้เฉพาะข้อสุดท้ายข้อเดียวคือ ข้อ7 ที่แก้เป็นการเฉพาะการลงทุนในหุ้น หุ้นกู้ หุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามเกณฑ์ โดยกำหนดว่าต้องไม่เกินสัดส่วนเท่าไรของทุนสำรองเพื่อจำกัดและควบคมุ ความเสี่ยงการลงทนุ ของสหกรณ์โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์

แต่ประเด็นที่น่าคิด ความพยายามควบคุมความเสี่ยง ในการลงทุนของสหกรณ์ฯจะหยุดสภาวะฟองสบู่ได้หรือไม่? หลังเปิดทางให้สหกรณ์ฯลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมาหลายปี

[caption id="attachment_150974" align="aligncenter" width="393"] เบื้องหลัง‘ฟองสบู่’สหกรณ์แตก เปิดช่องลงทุน หุ้นกู้-ทุจริต เบื้องหลัง‘ฟองสบู่’สหกรณ์แตก เปิดช่องลงทุน หุ้นกู้-ทุจริต[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560