ชี้ทิศ‘ทีวีดิจิตอล’ปีระกา ชูคอนเทนต์ โฟกัสลูกค้า สร้างจุดต่างดึงเรตติ้ง

09 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังถูกจับตามองอย่างต่อเนื่องในปีระกา แม้ผู้ประกอบการต่างประสานเสียงกันว่า ในช่วง 3 ปีแรกของธุรกิจเป็นช่วงของการเริ่มต้น ลองผิด ลองถูกเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดและโดนใจที่สุดให้กับผู้บริโภค แต่หากใครพบจุดยืน ตั้งหลักได้เร็วกว่ากำหนดก็ถือเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าในปีที่ผ่านมา หลายค่ายประสบความสำเร็จได้ทั้งเรตติ้งที่ดี และรายได้เป็นกอบเป็นกำ หากไม่นับรวมบิ๊กธุรกิจเดิม คลื่นลูกใหม่อย่าง เวิร์คพอยท์ทีวี โมโน 29 รวมถึงช่อง 8 ต่างทำผลงานได้ดีเกินคาด ในปีนี้ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ ว่าจะยังติดลมบนได้หรือไม่ และจะมีค่ายใดที่ไม่สามารถต้านกระแสได้ต่อไป

 ชี้คว้าเรตติ้ง 2 หลักยาก

นางสาวมาลี กิตติพงศ์ไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินิชิเอทีฟ ประเทศไทยกลุ่มบริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นับจากนี้จะเห็นทีวีเรตติ้งในอันดับสูงเป็นตัวเลข 2 หลักยาก เพราะผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแต่ละช่องจะมีความชัดเจน จะต้องโฟกัสกลุ่มเป้าหมายผู้ชมที่ชัดเจนที่เหมาะกับโลกปัจจุบัน ก่อนที่จะขยายไปแต่ละกลุ่มผู้ชม จะไม่รุกทำตลาดแมส เหมือนในอดีต ซึ่งทุกค่ายจะต้องปรับตัว จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องมุ่งสร้างความแตกต่าง ซึ่งหากมีผู้ชมที่ชัดเจน จะนำไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนไปด้วย

"ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะต้องพยายามก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับท็อป 5 ให้ได้ เพราะเป็นโอกาสที่ผู้ชมจะจดจำได้ สิ่งนี้ทำให้อุตสาหกรรมเกิดการแข่งขัน เพื่อสร้างความแตกต่าง และทำให้ดีกว่าเดิม"

 ชูมัลติ-แพลตฟอร์มจับคนเมือง

ขณะที่นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการทำตลาดภายใต้กลยุทธ์มัลติ-แพลตฟอร์มในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีการกำหนดเซ็กเม้นท์ที่ชัดเจน การร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความพร้อม ทั้งสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ซึ่งสปริงนิวส์จะนำรายการและเนื้อหาของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นมาออกอากาศโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับทีมงาน สร้างความแข็งแกร่ง เพื่อให้ได้คอนเทนต์ที่ดี ทำให้เป้าหมายของบริษัทชัดเจนยิ่งขึ้น

"สปริงนิวส์ปักธงชัดเจน ว่าจะเป็นช่องสถานีข่าวที่แข็งแกร่ง เพื่อตอบโจกย์กลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้บริโภคคนเมือง ซึ่งมีฐานรายได้ระดับปานกลาง-สูง ดังนั้นคอนเทนต์จึงต้องมีความแตกต่าง และเข้าถึง เช่น การผนึกเป็นพันธมิตรกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ในการนำคอนเทนต์มาออกอากาศ เป็นต้น"

สำหรับภาพรวมของสถานีข่าวสปริงนิวส์ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับทั้งด้านเรตติ้งและผู้ชมเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ในช่องข่าวและสาระ

ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายแพลตฟอร์มในส่วนของสปริงเรดิโอ รวมถึงการออกอากาศในแพลตฟอร์มบนบีทีเอส และลิฟท์ในอาคารสำนักงาน และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการรุกนำเสนอข่าวธุรกิจ ที่จะทำให้สปริงนิวส์ กรุ๊ปมีเครือข่ายครอบคลุมครบถ้วน

 ส่งสัญญาณฟื้นตัวไตรมาสแรก

ด้านนางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร "ช่อง 8" กล่าวว่า แนวโน้มทีวีดิจิตอลในไตรมาสแรกของปี 2560 จะดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ และการผ่อนคลายของสถานการณ์บ้านเมือง ทำให้บริษัทต่างๆ กลับมาใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการวางโพสิชั่นนิ่ง คาร์แร็คเตอร์ตัวเองให้ชัดเจน เนื้อหาเข้าใจง่ายเพื่อดึงให้กลุ่มผู้ชมและลูกค้าเข้ามา รวมทั้งการบริหารต้นทุน เพราะเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเรื่องของคอนเทนต์เป็นหลัก

โดยในปีนี้ คอนเทนต์หลักยังคงเป็นข่าวและรายการมวย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำเรตติ้งได้ดีในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทยังเพิ่มคอนเทนต์รายการสำหรับชาวบ้าน "ปากท้องต้องรู้" เข้ามา โดยเน้นนำเสนอรายการเศรษฐกิจที่ดูง่าย เข้าใจง่าย สไตล์คุยข่าวเล่าสาระและรายการวาไรตี้ "English (อิงลิช) สะกิดต่อมฮา" เพื่อจับกลีมครอบครัวอีกด้วย

"ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ช่อง 8ได้ปรับโลโก้ใหม่ และวางโพซิชันนิ่งตัวเองชัดเจนตอกย้ำจุดยืนของช่อง "เข้มทุกเรื่องราว สุดทุกอารมณ์" พร้อมทั้งปรับผังใหม่ครั้งใหญ่ตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยชู 4 คอนเทนต์หลัก ได้แก่ ละครใหม่, รายการวาไรตี้, รายการข่าว และรายการมวย ทำให้มีฐานผู้ชมชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าสามารถเลือกสินค้าที่เข้ามาซื้อเวลาโฆษณาชัดเจนตามไปด้วย โดยมี เรตติ้งอยู่อันดับเบอร์ต้นๆ"

 ฟันธงทีวีดิจิตอลแข่งเดือด

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า ธุรกิจทีวีดิจิตอลในปีนี้เชื่อว่ายังแข่งขันรุนแรงเช่นเดิมแต่ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การเซกเมนต์ตัวเองของแต่ละช่องจะมีความชัดเจนขึ้นมากน้อยเพียงไร , เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร การแข่งขันของช่องทางเว็บไซต์ และออนไลน์จะมีแชร์ส่วนแบ่งของทีวีดิจิตอลหรือไม่ , การพัฒนาคอนเทนต์ยังคงต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์ และต้องดึงดูดผู้ชมให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณรายการและสถานีมีมากกว่าความต้องการ และเงินทุนที่ได้รับการชะลอการจ่ายออกไป จะถูกนำมาพัฒนาคอนเทนต์ของรายการมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาภาพรวมของธุรกิจทีวีดิจิตอลพบว่าทุกสถานีมีคุณภาพดีขึ้น มีผู้ชมเพิ่มมากขึ้น เม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบกระจายตัวมากขึ้น เรตติ้งของหลายช่องเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับ พีพีทีวี แสดงให้เห็นว่า มีผู้ชมเข้ามาชมมากขึ้น แต่ปัญหาด้านต้นทุนที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายต้องเข้ามาร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา

ทั้งนี้การที่กสทช. มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ด้วยการยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จากเดิม 6 ปี ออกไปเป็น 9 ปี หรือจากงวดที่ 4-6 เดิม 3 ปี เป็น 6 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

แต่ในกระบวนการพัฒนาธุรกิจทีวีดิจิตอล ภาครัฐควรดำเนินการให้ครบกระบวนการ ทั้งในส่วนของภาคส่ง หรือผู้ประกอบการ ภาคโครงข่ายสัญญาณ และภาครับ หรือประชาชนผู้ชมทีวีดิจิตอล ซึ่งต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านดำเนินไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560