กระทรวงแรงงานชี้พ่อครัวแม่ครัวไทยเนื้อหอม

27 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
กระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลตลาดแรงงานต่างประเทศจากกรมการจัดหางาน พบคนไทยแห่ทำงานตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวใน 5 ประเทศ ญี่ปุ่นมากสุด เหตุรายได้สูง 9 หมื่นต่อเดือน ด้านต่างชาติชื่นชอบรสชาติอาหารไทยมีเอกลักษณ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนาฝีมือผู้ประกอบการยกระดับครัวไทยสู่ครัวโลก ช่วยกระตุ้นการส่งออก เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

นายสุทธิ  สุโกศล  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างแรงงานในตำแหน่งพ่อครัว แม่ครัวไทย ที่ไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้จากข้อมูลฝ่ายส่งเสริมตลาดแรงงานในต่างประเทศ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 (ม.ค. - ส.ค. 59) พบว่า มีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศตำแหน่งพ่อครัว - แม่ครัว มีมากถึง 16,447 คน แยกเป็นเพศชาย 12,402 คน คิดเป็นร้อยละ 75.41 เพศหญิง 4,045 คน คิดเป็นร้อยละ 24.59 รวมทุกประเภทการแจ้งเดินทางจำนวน 3,954 คน และแจ้งเดินทางกลับไปทำงาน (Re - entry) จำนวน 12,493 คน โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานตำแหน่งงานพ่อครัว แม่ครัว ประมาณ 3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางด้วยตนเอง โดยแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,000 - 90,000 บาทต่อเดือน ส่วนประเทศที่มีพ่อครัว แม่ครัวไทยไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางานได้ส่งเสริมการมีงานทำให้กับพ่อครัว แม่ครัวไทยทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับผู้ประกอบการอาหารรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกอาหารไทย ให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อว่าอาหารไทยไม่ว่าครัวที่ไหน ก็ต้องมีรสชาติคือรสไทยเดียวกัน เนื่องจากการรักษามาตรฐานรสชาติที่กลมกล่อม ไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นตำรับดั้งเดิมของคนไทย ด้วยวัตถุดิบที่คัดสรรด้วยคุณภาพและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนความสุภาพ และมีจิตบริการ ของผู้ประกอบการอาหารไทยจนเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ จุดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ต่างชาติชื่นชอบและยอมรับ