ธพว.MOU 3 หน่วยงานพร้อมจับมือ Alibaba.com ผลักดัน  SMEs ก้าวสู่ตลาดระดับสากล

27 ต.ค. 2559 | 07:16 น.
วันนี้ (27 ต.ค. 2559) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ตลาด E-Commerce ระดับสากล  โดยมีนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะประธานกรรมการ ธพว. กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่อุตสาหกรรม SMEs 4.0 พร้อมนโยบายของ ธพว.ในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สู่ตลาดโลก ทั้งนี้มี 3 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ที่ร่วมลงนาม MOU ในการผลักดันโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ   ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)  นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และ รศ.ดร.เสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Mr. Jerry Wu, Country Manager of  Alibaba.com Thailand เป็นพยานความร่วมมือในครั้งนี้  ในฐานะเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำหรับความร่วมมือการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ตลาด E-Commerce ระดับสากลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และไปสู่เวทีระดับสากล ซึ่ง 4 หน่วยงานดังกล่าว มีมาตรการช่วยผลักดันให้ SMEs สามารถดำเนินการธุรกิจไปสู่ตลาดโลกผ่านทาง Alibaba.com ซึ่งเป็นธุรกิจ E-Commerce รายใหญ่ของจีน ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับโลก เนื่องจากมีความหลากหลายของสินค้าทั่วโลก และเป็นแหล่งหาสินค้าอย่างดีสำหรับผู้ซื้อทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้บทบาทของ 3 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย ธพว. EXIM BANK และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม   คัดเลือกลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการร่วมบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่ธุรกิจขายส่งระหว่างบริษัท หรือ ที่เรียกว่า B2B ผ่านทาง Alibaba.com โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีกลุ่มลูกค้า Spring Up  ขณะที่ EXIM BANK มีกลุ่มลูกค้าด้านส่งออกและนำเข้า  ส่วน ธพว.เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพพร้อมเข้าร่วมโครงการ  ซึ่งทั้งสองธนาคารพร้อมสนับสนุนด้านสินเชื่อและให้บริการทางการเงินต่างๆ แก่ผู้ประกอบการด้วย ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ด้านผู้ประกอบการและ E-Commerce ที่โดดเด่น  มีเครือข่ายและความร่วมมือที่เข้มแข็งกับ Alibaba.com   จะช่วยอบรมผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาบ่มเพาะเชื่อมต่อกับการทำธุรกิจ E-Commerce   ผ่าน  Alibaba.com  ที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นพันธมิตร  ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน  2559

โดยมีลูกค้าที่ผ่านการคัดเลือกจาก ธพว.  และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  10 รายที่มีความหลากหลายโดดเด่นน่าสนใจ  คัดสรรมาจากต่างจังหวัดทั้งหมด  เช่น ธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และของใช้ต่าง ๆ  ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านเทคโนโลยี่ใหม่ๆ และลูกค้าของ  EXIM BANK จำนวน 10 รายที่มีศักยภาพทางด้านการส่งออกต่อไป

สำหรับ Alibaba.com ที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ตลาด E-Commerce ของไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่า สถาบันการเงินของรัฐ ธพว.  EXIM BANK  ตลอดจนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีแนวนโยบายในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง ในการเพิ่มศักยภาพการตลาด เพื่อก้าวสู่ระดับสากล ซึ่งจะมีผู้ประกอบการ SMEs  เป็นจำนวนมากที่มีความหลากหลายของธุรกิจ มีโอกาสเปิดตลาดสู่สากล   โดย Alibaba.com. พร้อมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผ่านกลไกการอบรมระบบการซื้อขาย  E-Commerce  ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และพัฒนาความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไป

ด้านผลประกอบการ ธพว. สิ้นสุดไตรมาส 3/2559 (ณ กันยายน 2559) สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยรวม 26,253 ล้านบาท จำนวน 8,823 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.98 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 91,898 ล้านบาท  สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) คงเหลือ 18,983 ล้านบาท (คิดเป็น 20.66% ของสินเชื่อรวม) ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ที่มียอด NPLs เท่ากับ 19,486 ล้านบาท (คิดเป็น 21.66% ของสินเชื่อรวม) หรือ ลดลง 503 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากธนาคารได้มีการแก้ไขหนี้ NPLs ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ปิดบัญชี การขายหนี้และการตัดหนี้สูญทางบัญชี เป็นต้น และธนาคารได้อนุมัติในหลักการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 10 ราย รวมวงเงิน 138 ล้านบาท โดยแยกเป็นร่วมลงทุนกองทุนย่อยกองที่ 1  จำนวน 8 ราย วงเงิน 98 ล้านบาท  และกองทุนร่วมลงทุนพันธกิจ SMEs เชิงเกษตรและที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ราย วงเงิน 40 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ขยายสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการแก้ไขปัญหา NPLs รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคาร มีกำไรสุทธิ ในเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 186 ล้านบาท  และรวมกำไรสุทธิสิ้นสุดไตรมาส 3/2559 เท่ากับ 1,473 ล้านบาท