ส่งออกไตรมาส 3 ปี ’59 สูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส ส่งผลให้ส่งออกทั้งปีคาดดตัว -0.5%

27 ต.ค. 2559 | 04:22 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "ส่งออกไตรมาส 3 ปี ’59 สูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส ส่งผลให้ส่งออกทั้งปีคาดว่า หดตัว -0.5%"

มูลค่าส่งออกสินค้าไตรมาส 3 ปี 2559 ทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส ที่ร้อยละ 1.2 YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2559 อยู่ที่ 19,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 YoY เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าของไทย 9 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ 160,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัวที่ร้อยละ 0.7 YoY

สินค้าส่งออกหลักอย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ยังคงเป็นตัวหนุนให้การส่งออกสินค้าโดยรวมในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ มูลค่าการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบในไตรมาส 3 ปี 2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.2 YoY จากอานิสงส์การส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเป็นหลัก เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่เติบโตได้ร้อยละ 11.4 YoY จากแรงหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกอาหารแปรรูป โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องที่ขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 YoY จากความต้องการของตลาดสหรัฐฯ และตะวันออกกลางเป็นหลัก

สำหรับการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. 2559 ที่ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด นอกเหนือจากการส่งออกสินค้าหลักข้างต้นแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกเคมีภัณฑ์ไปยังตลาดจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.6 YoY จากที่เคยหดตัวในระดับสองหลักมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559 ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว รวมถึงการส่งออกของจีนที่ยังติดลบต่อเนื่อง ทำให้มองว่าการขยายตัวดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว

ในช่วงที่เหลือของปี 2559 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ประกอบกับผลจากการส่งออกทองคำที่เริ่มผ่อนแรงลงตามราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าของไทย แต่จากตัวเลขส่งออก 9 แรกของปี 2559 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด รวมถึงทิศทางสินค้าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารแปรรูป ที่คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับมุมมองการส่งออกทั้งปี 2559 น่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 YoY  ลดลงจากที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ -1.8 YoY (ประมาณการณ์ ณ เดือน ก.ย. 2559)