กระทรวงคมนาคมจัดระบบขนส่งอำนวยความสะดวกประชาชน

15 ต.ค. 2559 | 00:30 น.
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า ได้จัดเตรียมการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ระหว่างวันที่ 14 – 16  ตุลาคม 2559 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ดังนี้

1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)   1.1 ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจการทั้งหมด จำนวน 15 ชุด (75 คน) ณ จุดเชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สยาม, วงเวียนใหญ่ และบริเวณจุดเชื่อมต่อบริเวณรอบโรงพยาบาลศิริราชและสนามหลวง เพื่อตรวจจับรถสาธารณะป้องกันการเอาเปรียบผู้โดยสาร  1.2 ได้จัดเตรียมบริเวณกรมการขนส่งทางบกเพื่อเป็นจุดรองรับรถโดยสาร บขส. ที่จะเข้ามาจากต่างจังหวัด พร้อมทั้งได้ประสานสหกรณ์แท็กซี่เพื่ออำนวยความสะดวกจัดคิวรับผู้โดยสารเดินทางต่อไปยังจุดต่างๆ 1.3 ประสานสมาคมรถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทางให้ทราบถึงจุดจอดต่าง ๆ บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง พร้อมและอาจเข้ามาใช้จุดจอดใน ขบ. เพื่อส่งประชาชนจากต่างจังหวัด 1.4 ประชาสัมพันธ์ช่องทางต่าง ๆ เตือนรถโดยสารสาธารณะที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้โดยสาร ลงโทษหนักทุกกรณี

1.5 ประสานให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ  . อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการตามสถานีขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศ 2.ประสานสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง ให้ดูแลความปลอดภัยโดยรอบอย่างเข้มข้นตลอด 24 ชั่วโมง 3.ประสานรถโดยสารไม่ประจำทางในจังหวัดให้จัดเตรียมรถเสริมในกรณีที่รถโดยสารประจำทางไม่เพียงพอต่อความต้องการ 1.6 เพิ่มจำนวนพนักงานประจำศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง ให้เพียงพอต่อการบริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน

2. กรมเจ้าท่า (จท.)  กรมเจ้าท่า ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือโดยสารสาธารณะ จัดเตรียมเรือโดยสารเพิ่มเติม (เรือเสริม) ให้บริการ ดังนี้  2.1 เรือโดยสารสาธารณะ (เรือเสริม) จำนวน 3 ลำ ของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ให้บริการรับส่งประชาชน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึงเวลา 21.00 น. โดยมีเส้นทางเดินเรือระหว่างท่าเรือสาทร – ท่าเรือพรานนก และท่าเรือพรานนก – ท่าเรือนนทบุรี สำหรับเรือโดยสารด่วนเจ้าพระยาที่ให้บริการตามปกติ ได้มีการเพิ่มจำนวนการให้บริการ เป็น 55 ลำ ออกให้บริการทุก 10 นาที และขยายเวลาให้บริการถึงเวลา 21.00 น.

2.2 เรือโดยสารข้ามฟาก เรือทรัพยธนนคร 1 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ทรัพย์ธนนคร และเรือข้ามฟากนำโชคชัย 10 เรือข้ามฟากโพธิ์อรุณ 15 ให้บริการรับส่งประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โดยมีเส้นทางเดินเรือระหว่าง ท่าเรือพรานนก – ท่าช้าง รวมทั้ง จัดเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ เรือตรวจการณ์ ปฎิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้บริการเรือและท่าเรือโดยสารสาธารณะที่มีการใช้งานจำนวนมาก และจัดพนักงานขนส่ง ประจำท่าเทียบเรือสาธารณะที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยในการขึ้น – ลงเรือ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการเดินทาง นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้นำเรือเจ้าท่า 37 ออกให้บริการประชาชนเพิ่มเติมในเส้นทางที่มีจำนวนประชาชนใช้บริการโดยสารหนาแน่น เพื่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย หากพบเหตุไม่ปลอดภัยหรือประสบเหตุทางน้ำ สามารถขอความช่วยเหลือจากเรือตรวจการณ์ กรมเจ้าท่า โดยใช้สัญญาณเสียงหรือแสง หรือทางโทรศัพท์หมายเลข 0 – 2639 – 4782, 0 – 2233 – 1311 – 8 ต่อ 353 หรือสายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง

3. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  การรถไฟแห่งประเทศไทย อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชน โดยจัดเพิ่มตู้โดยสารพ่วงในขบวนรถไฟฟรี รถไฟเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ และเพิ่มขบวนรถฟรีเสริมเที่ยวพิเศษสายชานเมือง – ทางไกล อีก 18 ขบวน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม รองรับการเดินทางได้เพิ่มจากปกติอีกวันละ 1.5 – 2 หมื่นคนต่อวัน พร้อมมอบนโบายให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ คณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลบุรฉัตร (โรงพยาบาลรถไฟ) และขอความร่วมมือไปยังตำรวจรถไฟ อำนวยความสะดวกการเดินทางประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้เพิ่มจำนวนตู้รถโดยสารพ่วงเพิ่มในขบวนรถไฟในเส้นทางปกติ พร้อมจัดขบวนรถเสริมพิเศษ“รถไฟฟรี” รองรับการเดินทางของประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม เป็นต้นไป สำหรับรายละเอียดการเพิ่มจำนวนตู้โดยสารและเพิ่มขบวนรถไฟเสริมพิเศษ มีดังนี้

- ขบวนรถไฟฟรี สายชานเมืองกรุงเทพ – ปริมณฑล ได้เพิ่มจำนวนตู้โดยสารพ่วงไป – กลับ ทุกเส้นทาง จำนวน 64 ขบวนต่อวัน ขณะเดียวกันได้เพิ่มขบวนรถไฟฟรีเสริมพิเศษสายชานเมืองสำหรับพระราชพิธีฯ ครั้งนี้ อีก 12 ขบวนต่อวัน แบ่งเป็น เส้นทางกรุงเทพ – นครปฐม ไป – กลับ จำนวน 4 ขบวนต่อวัน เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา ไป – กลับ จำนวน 4 ขบวนต่อวัน และเส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา ไป – กลับ จำนวน 4 ขบวนต่อวัน

- เส้นทางระยะไกล รฟท. ได้เพิ่มจำนวนตู้รถโดยสารพ่วงในขบวนรถเร็ว ขบวนรถด่วนทุกเส้นทาง ทั้งรถไฟฟรีเพื่อสังคมและรถไฟเชิงพาณิชย์ ซึ่งเปิดให้บริการ จำนวน 68 ขบวนต่อวัน รวมทั้ง จัดเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษรถไฟฟรีในเส้นทางระยะไกลสำหรับพระราชพิธีฯ ครั้งนี้อีก จำนวน 6 ขบวนต่อวัน ได้แก่ เส้นทางสุรินทร์ – กรุงเทพ ไป – กลับ จำนวน 2 ขบวนต่อวัน ขอนแก่น – กรุงเทพ ไป – กลับ จำนวน 2 ขบวนต่อวัน และเส้นทางพิษณุโลก – กรุงเทพ ไป – กลับ จำนวน 2 ขบวนต่อวัน

การเพิ่มจำนวนตู้โดยสารและรถขบวนเสริมพิเศษครั้งนี้จะทำให้ รฟท. มีขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ และขบวนรถไฟฟรีเปิดให้บริการทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากวันละ จำนวน 132 ขบวน เป็นจำนวน 150 ขบวน ครอบคลุมเส้นทางทั้งระยะไกลและระยะสั้นรอบชานเมืองทั่วประเทศ รองรับการเดินทางของประชาชนเพิ่มขึ้นจากปกติอีกไม่ต่ำกว่า 15,000 – 20,000 คนต่อวัน

นอกจากนั้น รฟท. ได้สั่งการให้นายสถานีรถไฟทั่วประเทศประสานกับทางจังหวัด เพื่อขอทราบความต้องการของประชาชน สำหรับจัดขบวนรถรองรับให้เพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางมากรุงเทพ ซึ่งหากว่าพื้นที่ใดมีประชาชนต้องการเดินทางจำนวนมาก และมีขบวนรถไฟไม่เพียงพอ รฟท. พร้อมพิจารณาเพิ่มขบวนรถพิเศษทันที รวมถึงให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ นายสถานี ตำรวจรถไฟทั่วประเทศ หน่วยแพทย์และพยาบาลของการรถไฟฯ จัดเตรียมการอำนวยความสะดวกภายในสถานีรถไฟและภายในขบวนรถ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยประชาชนสามารถจองตั๋วได้

4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขสมก. เพิ่มจำนวนรถ เที่ยววิ่ง การเปลี่ยนกะพนักงานประจำรถ ทั้งกะเช้า กะบ่าย และกะสว่าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยรถโดยสารของ ขสมก. ที่ผ่านบริเวณวัดพระแก้ว สนามหลวง และบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ สาย 1, 2, 3, 12, 15, 25, 32, 42, 47, 53, 59, 60, 68, 70, 79, 80, 82, 91, 203, 503, 508, 509, 511, 516 และ สาย 556 โดยรถโดยสารธรรมดาให้บริการฟรีทั้งหมด ยกเว้นรถโดยสารปรับอากาศเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ

ทั้งนี้ ขสมก. ได้จัดรถโดยสาร Shuttel Bus อำนวยความสะดวกแต่ละจุด ปลายทางสนามหลวง ให้บริการฟรี รวม 32 เส้นทาง ดังนี้  1) เส้นทางหมอชิต 2 - สนามหลวง  2) เส้นทางสายใต้ใหม่ - สนามหลวง  3) เส้นทางหัวลำโพง - สนามหลวง  4) เส้นทางเอกมัย - สนามหลวง  5) เส้นทางอนุสาวรีย์ชัย - สนามหลวง  6) เส้นทางวงเวียนใหญ่ - สนามหลวง  7) เส้นทางบางใหญ่ (Central Westgate) - สนามหลวง นอกจากนี้ ขสมก. ได้จัดรถเอกชนร่วมบริการ ได้แก่ สาย 6, 9, 30, 33, 39, 43, 44, 48, 64, 123, 507, และ สาย 524 รวม 12 เส้นทาง เดินรถตามเส้นทางปกติ

5. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)  บขส. จัดรถเสริมทุกเส้นทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากเที่ยววิ่งปกติ เช่น เส้นทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ได้จัดเที่ยววิ่งรถโดยสารจากปกติ 6,833 เที่ยววิ่ง เพิ่ม 1,711 เที่ยววิ่ง รวม 8,544 เที่ยววิ่ง รองรับผู้โดยสารได้ 191,367 คน, เส้นทางภาคตะวันออกที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (เอกมัย) ได้จัดเที่ยววิ่งรถโดยสารจากปกติ 2,237 เที่ยววิ่ง เพิ่ม 560 เที่ยววิ่ง รวม 2,797 เที่ยววิ่ง รองรับผู้โดยสารได้ 52,667 คน ส่วนเส้นทางภาคใต้ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ถนนบรมราชชนนี) ได้จัดเที่ยววิ่งรถโดยสารจากปกติ 3,850 เที่ยววิ่ง เพิ่ม 962 เที่ยววิ่ง รวม 4,812 เที่ยววิ่ง รองรับผู้โดยสารได้ 94,439 คน นอกจากนี้ บขส. ได้จัดพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้า) เป็นจุดจอดสำหรับรถตู้และรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) ที่เดินทางมาจากต่างหวัด เพื่อร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ โดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้า) สามารถจอดรถได้ประมาณ 130 คัน และได้มอบให้นายสถานีเดินรถทั่วประเทศประสานกับทางจังหวัด สำรวจความต้องการของประชาชนในการเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีฯ เพื่อจัดเตรียมรถโดยสารรองรับประชาชนให้เพียงพอตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดย บขส. ได้ตั้งศูนย์อำนวยการความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โทรศัพท์ 0 – 2936 – 2963 หรือ Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ บขส. จะงดการเผยแพร่สื่อบันเทิงบนรถ และจะเปิดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความไว้อาลัยเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป