การบ้านอื้อ เอกชนไทย หลังซัมมิท

06 พ.ย. 2562 | 04:05 น.

 

รูดม่านอาเซียนซัมมิท เปิดฉากอาร์เซ็ปจ่อลงนามมีผลบังคับใช้ ม.หอการค้าไทย ชี้เอกชนการบ้านอื้อชิงตลาดผู้บริโภคครึ่งโลก จับตาจีนเพิ่มความได้เปรียบการค้า สภาอุตฯจี้ภาคธุรกิจเร่งพัฒนาคนรับมืออุตฯ 4.0 -ค้าดิจิทัล

ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน(อาเซียน ซัมมิท)ครั้งที่ 35 และประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 พร้อมส่งไม้ต่อให้เวียดนามรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2563

สำหรับไฮไลต์ที่สำคัญในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิทมีมากมาย(กราฟิกประกอบ) แต่ไฮไลต์เด่นสุดคือ ผู้นำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP หรืออาเซียนบวก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงครบทั้ง 20 บท ที่มีการเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งจากนี้ไปได้มอบหมายให้ 15 ประเทศ(ไม่รวมอินเดีย)ไปขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อลงนามความตกลงในปี 2563

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเบื้องต้นได้ตั้งเป้าจะมีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม 2563 ส่วนอินเดียมีประเด็นที่ยังปิดการเจรจาไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเจรจาเปิดตลาด จึงไม่พร้อมที่จะประกาศสรุปการเจรจาร่วมกับ 15 ประเทศ ซึ่งคณะเจรจาต้องทำงานต่อ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

การบ้านอื้อ  เอกชนไทย  หลังซัมมิท

                                           อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การค้าเสรีในกรอบอาร์เซ็ป 16 ประเทศที่มีจีดีพีรวมกันสูงถึง 32% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้าสัดส่วนกว่า 29% ของการค้าโลก ไทยและอาเซียนจะได้รับประโยชน์เพิ่มจากอาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่มีความครอบคลุมทุกมิติทั้งการค้า การลงทุน บริการและอื่น ๆ เป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง และมีตลาดใหญ่ถึง 16 ประเทศ มีประชากรหรือผู้บริโภครวมกันกว่าครึ่งหนึ่งของโลก (3,586 ล้านคน) ซึ่งถือเป็นข้อดีที่เป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดเพิ่ม

การบ้านอื้อ  เอกชนไทย  หลังซัมมิท

                                     ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

 

การบ้านอื้อ  เอกชนไทย  หลังซัมมิท

อย่างไรก็ดีข้อเสียคือจะมีการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การเรียนรู้ระเบียบกฎเกณฑ์การนำเข้า และกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้า เช่น จีนได้ออกกฎให้แต่ละประเทศที่ค้าขายกับจีนต้องส่งรายชื่อผู้ส่งออก หรือโรงงานผลิตให้กับทางการจีนเพื่อให้รายชื่อไปปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิส่งไปจีน รวมถึงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาร์เซ็ปที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษา สาระหลักสินค้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปสามารถใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดจากทั้ง 16 ประเทศได้ ทำให้ประเทศใหญ่ที่ไม่มีวัตถุดิบของตัวเองได้ประโยชน์และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เป็นต้น

“หากอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ยังเกรงกันว่าจะมีทุนจีน นักธุรกิจจีนเข้ามามีบทบาทในอาเซียนมากขึ้น รวมถึงเส้นทางรถไฟจีนที่เชื่อมต่อมายังอาเซียนจะทำให้สินค้าจีนได้เปรียบทางการค้ามากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า ที่ต่อไปทุกประเทศจะแข่งขันกันในเรื่องนี้มาก”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ไทยได้ยกประเด็นให้ความสำคัญกับการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และพัฒนาประชาคมอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัล ในส่วนนี้ภาคเอกชนของไทยโดยความร่วมมือของภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร หรือแรงงานเพื่อเตรียมรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

การบ้านอื้อ  เอกชนไทย  หลังซัมมิท

                                                   สุพันธุ์  มงคลสุธี

ในส่วนของภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ล่าสุดอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) หรือแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย ซึ่งได้ร่วมกันแถลงถึงความสำเร็จในการทดลองระบบแล้วในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งจะผลักดันให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562