15 ชาติย้ำ ประกาศปิดดีลอาร์เซ็ปสำเร็จ

04 พ.ย. 2562 | 14:00 น.

15 ชาติ ยกเว้นอินเดีย ตอกย้ำประกาศความสำเร็จปิดดีลอาร์เซ็ป ส่งท้ายประธานอาเซียนของไทยสำเร็จ ก่อนส่งไม้ต่อให้เวียดนาม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ปอีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งไว้

15 ชาติย้ำ ประกาศปิดดีลอาร์เซ็ปสำเร็จ    

การประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ(ยกเว้นอินเดีย)สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป

15 ชาติย้ำ ประกาศปิดดีลอาร์เซ็ปสำเร็จ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี

หากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น

นอกจากนี้ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันความตกลงอาร์เซ็ปยังช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำ FTA ระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ  เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น

การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เมื่อปี 2558 พบว่า ผลของการเจรจาอาร์เซ็ปจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่เจรจาขยายตัว โดยผลผลิตมวลรวม(จีดีพี)ของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 3.995% โดยปริมาณการบริโภคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.746% ปริมาณการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.934% ปริมาณการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.368% ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.355% และปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.932%

15 ชาติย้ำ ประกาศปิดดีลอาร์เซ็ปสำเร็จ

 

 ความตกลงอาร์เซ็ปประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก

ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 59.8% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 58.8% ของการส่งออกของไทยไปทั่วโลก

 

ด้านนายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อินเดียเรียกร้องให้ทุกประเทศยอมเปิดตลาดภาคบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้แรงงานจํานวนมากของอินเดียซึ่งอยู่ในวัยฉกรรจ์และมีคุณภาพค่อนข้างสูง สามารถไปทํางานในประเทศคู่เจรจาได้ซึ่งประเด็นที่หลายประเทศก็ค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ข้อตกลง (Agreement Text) สามารถสรุปผลได้แล้วทั้ง 20 ข้อบท (Chapters) ระหว่าง  15 ประเทศสมาชิก ยกเว้นอินเดีย ซึ่งไทยน่าจะสามารถประกาศความสําเร็จของการเจรจา ได้โดยประกาศว่าทั้งการเปิดตลาดและตัวข้อตกลงสามารถหาข้อสรุปได้ทั้งหมดแล้วในประเด็นหลัก เหลือเพียงประเด็นปลีกย่อย ที่ต้องหารือในรายละเอียดอีกเล็กน้อย และน่าสามารถลงนามได้ในต้นปี 2563 หรืออาจเป็นการลงนามหาข้อสรุปได้เฉพาะ 15  ประเทศสมาชิก ยกเว้นอินเดียที่สรุปได้บางส่วน (บังคับใช้บางข้อบท) แล้วเปิดให้เจรจาต่อไปในอนาคตสําหรับอินเดียกับประเทศสมาชิกอื่น

“ประเด็นที่เป็นข้อน่ากังวลมากที่สุดสำหรับอินเดียคือ เรื่องของการเปิดตลาดสินค้าจะนําไปสู่การไหลทะลักของสินค้าจากจีนที่อินเดียไม่สามารถควบคุมได้และจะทําให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของอินเดียเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าที่จีนจะรุกเข้าสู่อินเดีย ได้แก่ เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์และชิ้นส่วน, และในกรณีออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อินเดียกังวลใน เรื่องนมและผลิตภัณฑ์จากนม”