เบื้องลึกอินเดีย "งอแง"อาร์เซ็ป "ปิติ"ยันผู้นำประกาศความสำเร็จได้วันนี้!

04 พ.ย. 2562 | 04:23 น.

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piti Srisangnam (วันที่ 4 พ.ย.2562) ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังต้องลุ้นระทึกว่าในการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP หรืออาร์เซ็ป) ช่วงเย็นวันนี้ ผู้นำอาร์เซ็ปทั้ง 16 ชาติ(อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) จะมีการออกแถลงการณ์ประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ป ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลกตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่

ทั้งนี้ท่ามกลางกระแสข่าวรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอินเดียจะไม่ยอมลงนามรับรองผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาร์เซ็ปที่หารือกันดึกดื่นเมื่อคืนนี้(3 พ.ย.62)ที่มีนายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าเป็นผลจากอินเดียติดขัดเรื่องเรื่องการคุ้มครองการลงทุน

 

อย่างไรก็ดีช่วงดึกที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า เพิ่งประชุม รมต.เศรษฐกิจ RCEP 16 ประเทศ เสร็จเดี๋ยวนี้เองครับ...!23.45 น. พอดี..!!!

 

เบื้องลึกอินเดีย "งอแง"อาร์เซ็ป "ปิติ"ยันผู้นำประกาศความสำเร็จได้วันนี้!

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ  ศรีแสงนาม ได้โพสต์ข้อความว่า จนถึงเช้าวันนี้ (4/11/2019) เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ RCEP

 

1. Regional Comprehensive Economic Partnership (#RCEP) คือ ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ อันประกอบไปด้วย อาเซียน 10 ประเทศร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้ง 16 ประเทศคู่เจรจา RCEP เห็นด้วยในหลักการการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ให้มีความทันสมัย, ครอบคลุม, มีคุณภาพสูง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน (#Modern, #Comprehensive, #HighQuality and #MutuallyBenefit) โดยหากเจรจาสำเร็จ เขตการค้าเสรี RCEP จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ครอบคลุมประชากรกว่า 47.4% ของประชากรโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงกว่า 32.2% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ครอบคลุมมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศถึง 29.1% และ 32.5% ตามลำดับ และนั่นเท่ากับว่า RCEP จะเป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในระดับนานาชาติว่า ทั้ง 16 ประเทศสมาชิกสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์ที่การค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (#Protectionism) เกิดขึ้นมากที่สุด และรุนแรงที่สุดทั้งแต่ปี 1995 ผ่านการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องและการเสื่อมศรัทธาของการเจรจการค้าในกรอบพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่ยังไม่มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจารอบโดฮาในปี 2001 และท่ามกลางแนวคิดแบบ Unilateral ที่มหาอำนาจ (ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา) เริ่มต้นการขยายอิทธิพลและกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว

2. กรอบ RCEP เริ่มต้นการเจรจาในปี 2012 และเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่า การเจรจาการค้าเสรีต้องสามารถหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2015 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ ทั้งที่ทุกประเทศต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุม ประเทศไทยตั้งความหวังและเดินหน้าทำงานหนักอย่างยิ่งเพื่อผลักดันให้ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2019 ในระหว่างที่ไทยเป็นประธานและเจ้าภาพ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2019

ประเทศไทยผลักดันให้เกิดการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ RCEP ทั้งในระดับคณะผู้เจรจาจนถึงระดับรัฐมนตรีไปแล้ว 11 รอบ โดยคณะผู้เจรจาพบปะหารือและประชุมกันทุกเดือน หรือบางเดือนประชุม 2 รอบ โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการเจรจาแต่ละรอบอย่างชัดเจน ประเทศไทยผลักดันให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่จากเดิมปีละ 1 รอบ ให้เป็นปีละ 4 รอบ โดยประชุมระดับรัฐมนตรีไปแล้ว 3 รอบ และรอบที่ 4 ของปี (ซึ่งเป็นรอบที่ 10 ถ้านับตั้งแต่ปี 2013) ได้เกิดขึ้นในไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกาย ในระหว่างช่วงของการประชุมสุดยอดอาเซียน (31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2019) ก่อนที่การประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP ครั้งที่ 3 (การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3) จะเกิดขึ้นในช่วงบ่าย-เย็นของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019

3. เราเห็นภาพการเจรจาที่จีนเป็นฝ่ายมีอิทธิพลสูงในการผลักดันกดดันให้ RCEP เกิดขึ้นให้ได้ ในขณะที่ อินเดีย มักจะถูกเป็นฝ่ายได้รับข้อกล่าวหาเสมอๆ ว่าเป็นผู้ที่ทำให้การเจรจาเกิดความล่าช้า และเราเห็นภาพ ญี่ปุ่น พยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายจีนไม่รุกไล่อินเดียมากจนเกินไป จนทำให้อินเดียปฏิเสธการเจรจา

4. ประเด็นที่อินเดียห่วงกังวลมากที่สุด คือการเปิดตลาดจะนำไปสู่การถาโถมเข้ามาของสินค้าจากจีนที่อินเดียไม่สามารถควบคุมได้และจะทำให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของอินเดียเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าที่อินเดียวหวาดกลัวการรุกเข้ามามาที่สุดคือ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ยานยนต์และชิ้นส่วน, และในกรณีออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อินเดียกังวลในเรื่องนมและผิตภัณฑ์จากนม แต่ที่แย่มากกว่าก็คือในอินเดียเรื่องนี้ถูกดึงเข้าไปเป็นประเด็นทางด้านการเมือง ทางการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่น

5. ล่าสุด ฝ่ายอินเดียเรียกร้อง ให้ทุกประเทศยอมเปิดตลาดภาคบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้แรงงานของอินเดียซึ่งอยู่ในวัยฉกรรจ์ มีปริมาณมาก และมีคุณภาพค่อนข้างสูง สามารถไปทำงานในประเทศคู่เจรจาได้ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็แสดงความกังวล

 

6. เหตุผลของความยากในการเจรจามาจาก 1) ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกทำให้มีความต้องการและมาตรฐานในการเจรจาต่างกัน และ 2) หลายประเทศสมาชิกไม่ได้มีข้อตกลการค้าเสรีระหว่างกันอยู่แล้ว อาทิ จีน-อินเดีย อินเดีย-ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย-จีน ทำให้ต้องมีการเจรจาใหม่ในหลายๆ ประเด็น

 

--------------------------------------------------------------

ข้อมูลในส่วนสถานการณ์เจรจาล่าสุด เกิดจากการติดตามข่าวสารและการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆของผู้เขียนเอง ไม่ได้เกิดจากการบอกเล่าของทีมเจรจาฝ่ายไทยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากฝ่ายไทยใดๆ ทั้งสิ้น

--------------------------------------------------------------

 

7. สถานการณ์การเจรจาล่าสุดการเปิดและการเข้าสู่ตลาด (Market Access) สำหรับการค้าสินค้าและการค้าบริการ น่าจะสามารถหาข้อสรุปได้แล้วสำหรับทุกรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศสมาชิก (ถ้ายังมีประเด็นอยู่บ้างก็น่าจะต่ำกว่า 4% ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศสมาชิก)

 

8. ตัวข้อตกลง (Agreement Text) น่าจะสรุปผลได้แล้วทั้ง 20 ข้อบท (Chapters) ระหว่าง 15 ประเทศสมาชิก ยกเว้นอินเดีย เข้าใจว่าเมื่อคืน (3/11/2019) รัฐมนตรี RCEP ประชุมกันถึง 23.45 น. และไม่ไปร่วม Gala dinner ทำงานหนักมาก และประสบความสำเร็จในที่สุด

9. ประเทศไทยน่าจะสามารถประกาศความสำเร็จของการเจรจาได้ โดยประกาศว่าทั้งการเปิดตลาดและตัวข้อตกลงสามารถหาข้อสรุปได้ทั้งหมดแล้วในประเด็นหลัก เหลือเพียงประเด็นปลีกย่อยที่ต้องหารือในรายละเอียดอีกเล็กน้อย และน่าสามารถลงนามได้ในต้นปี 2020 อย่างแน่นอน ซึ่งก็จะดีกับทั้งไทยและเวียดนาม

10. ความเป็นไปได้ในการสรุป RCEP ที่จะเกิดขึ้นอยู่ใน 3 รูปแบบ 1) Best Case Scenario คือทุกประเทศลงนามได้ทั้งหมดภายในต้นปี 2020 ตามที่ประเทศไทยประกาศความสำเร็จเอาไว้ 2) Worst Case Scenario คือ RCEP สามารถลงนามหาข้อสรุปได้ในระหว่าง 15 ประเทศสมาชิก และ 3) อาจจะลงนามในรูปแบบ 15+1 ที่ทั้ง 15 ประเทศสามารถหาข้อสรุปได้ และมีหมายเหตุพิเศษเอาไว้สำหรับอินเดียที่สรุปได้บางส่วน (บังคับใช้บางข้อบท) แล้วเปิดให้เจรจาต่อไปในอนาคตสำหรับอินเดียกับประเทศสมาชิกอื่น