เปิดฉาก ABIS ซัมมิท ผู้นำ-บิ๊กเอกชนแข่งโชว์วิสัยทัศน์

02 พ.ย. 2562 | 03:59 น.

เปิดฉากประชุมสุดยอดผู้นำภาคธรุกิจ ABIS2019 ชูแนวคิด “Empowering ASEAN4.0” เตรียมพร้อมอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ดึงผู้นำ-บิ๊กเอกชนไทย-เทศร่วมโชว์วิสัยทัศน์เพียบ ทั้งแอร์เอเชีย แกร็บ หัวเว่ย โตโยต้า สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชั่น เอสซีจี

ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562  สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน(ASEAN-BAC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมือง ทองธานี

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีคู่ขนานสำคัญของการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน(ASEAN Summit) ที่จัดขึ้น เป็นประจำทุกปี โดยในการประชุมครั้งนี้มีผู้นำประเทศ ผู้นำธุรกิจและผู้นำองค์กรระหว่างประเทศบเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน

 เปิดฉาก ABIS ซัมมิท ผู้นำ-บิ๊กเอกชนแข่งโชว์วิสัยทัศน์

นายอรินทร์  จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน เวทีประชุมสุด ยอดผู้นำภาคธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนท่ามกลางการความท้าทายใหม่ ขณะเดียวกันยังถือเป็นการยกระดับความร่วมมือและแสดงให้ประจักษ์ถึงการเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอาเซียน

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Empowering ASEAN 4.0 มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมประเทศสมาชิกรับมือกับความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับแนวคิดหลักที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน(ASEAN-BAC) สนับสนุนและ ผลักดันให้เกิดการดำเนินการในประชาคมอาเซียนในปี 2562 ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ 1. Digital Infrastructure การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 2.Digital Connectivity สร้างความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการค้า การลงทุนในอาเซียน 3. Human Empowerment and Development การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิด ความสามารถใหม่และลดปัญหาการว่างงานในอาเซียน และ 4.MSME ผลักดันให้ผู้ประกอบการ MSME เข้าถึงนวัตกรรมและเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

 

 

“ SEAN 4.0 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่ภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องตระหนักและปรับตัว เมื่อ เทคโนโลยีดิจิทัล กำลังเข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบในอัตราเร่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาทิ การเข้ามาแทนที่ แรงงานทักษะต่ำด้วยหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาทดแทนงานบริการของประเทศในอาเซียน ฯลฯ ในการจัดประชุม เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ตระหนักและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกผัน สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอาเซียนและประชาคมอาเซียนได้มากที่สุด ”นายอรินทร์กล่าว

 เปิดฉาก ABIS ซัมมิท ผู้นำ-บิ๊กเอกชนแข่งโชว์วิสัยทัศน์

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS 2019 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้นอกจากจะได้รับการตอบรับร่วมงาน จากผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) องค์การเพื่อความร่วมมือและ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังได้รับเกียรติจากบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนและผู้นำของบริษัทชั้นนำที่จะมาร่วม แสดงวิสัยทัศน์แห่งอาเซียน อาทิ แอร์เอเชีย แกร็บ หัวเว่ย โตโยต้า มอเตอร์ สิงคโปร์เทเลคอมมูนิเคชั่น เอสซีจี ธนาคาร กรุงเทพ เชลล์ประเทศไทย มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และกลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีองคปาฐก (Keynote Speaker) สำคัญในงานที่จะช่วยฉายภาพผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากเทคโนโลยีที่ พลิกผัน (Digital Disruption) และมุมมองสำคัญในมิติต่างๆต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน อาทิ Mr.Nobuhiko Sasaki ประธานคนใหม่ขององค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กับมุมมองการ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนในยุคดิจิทัล Mr.Edward Zhou รองประธานคนรุ่นใหม่แห่งหัวเว่ย ประเทศจีน ผู้มีบทบาท สำคัญในการวางแผนขยายตลาดต่างประเทศของหัวเว่ย กับมุมมองการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการสร้างความ เชื่อมโยงด้านดิจิทัลของอาเซียน รวมไปถึงวิทยากรพิเศษ Femi Owolade-Coombes หรือ Hackerfemo อัจฉริยะ coding วัย 13 ปี ผู้ป่วยอาการผิดปกติของระบบประสาทที่หลงไหลการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ดิจิทัล เปลี่ยนโลก ด้วยการตั้งโครงการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

 

ในจัดการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS 2019 ตลอดทั้ง 2 วัน ยังมีหัวข้อสัมมนาสำคัญครอบคลุมประเด็นท้าทายของ ASEAN 4.0 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมอาเซียนก้าวสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Advancing ASEAN 4.0 in Global Value Chain) 2.การสร้างเศรษฐกิจอาเซียนสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Sustainable ASEAN4.0: Circular Economy) 3.การสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่เป็น MSME ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน (Next generation MSME access to Finance) 4.การปรับเปลี่ยนธุรกิจในอาเซียนเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเสริมความ เชื่อมโยงด้านดิจิทัล (ASEAN Digital Transformation and Connectivity) 5.การเสริมสร้างสมรรถนะของทรัพยากร มนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่และลดปัญหาการว่างงาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี(ASEAN Human Empowerment and Development) และ 6.การเสริมสร้างเครือข่ายความเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการMSME ใน อาเซียน(ASEAN Mentorship for Entrepreneurs Network for MSMEs)

 

นอกจากนี้ระหว่างการประชุมยังมีกิจกรรมคู่ขนานต่างๆเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในอาเซียน อาทิ งานแสดงสินค้า งานจับคู่ธุรกิจงานประชุมหารือกับภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ฯลฯ รวมไปถึงงานประกาศรางวัล ASEAN Business Award 2019 (ABA) ที่จะจัดขึ้นภายหลังการประชุมในช่วงเย็นของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เพื่อ มอบรางวัลให้กับธุรกิจในอาเซียน ถือเป็นการยกย่องและเชิดชูบริษัทอาเซียนที่มีศักยภาพและความโดดเด่นด้านต่างๆ พร้อมไปกับการส่งเสริม SMEs ให้สามารถก้าวขึ้นไปแข่งขันระดับสากล โดยจะมอบรางวัล the Most Admired ASEAN Enterprise ให้แก่บริษัทที่ถือกำเนิดในอาเซียน (home-grown ASEAN companies) และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (ASEAN SMEs) ที่มีศักยภาพในการก้าวไปสู่การค้าระดับสากลและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ อาเซียนให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รวมจำนวนทั้งหมด 11 รางวัล 

 เปิดฉาก ABIS ซัมมิท ผู้นำ-บิ๊กเอกชนแข่งโชว์วิสัยทัศน์

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเผชิญอยู่  การประชุม ABIS ในส่วนของภาคการเงินการธนาคารมองโจทย์ความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในยุคแห่งอนาคต ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ที่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเติบโตและการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว 

กลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว คือ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบนิเวศทางการเงินในภูมิภาค และส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น   เชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อจัดทำเครื่องมือด้านการเงินในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ได้ช่วยการทำธุรกรรมทางด้านการเงินสะดวก มีต้นทุนที่ถูกลง และช่วยให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารก้าวไปสู่การให้สินเชื่อที่ดูจากฐานข้อมูลเป็นหลักมากขึ้น (Information Base Lending) เช่น AI และ Big Data ทำให้เกิดสินเชื่อและผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบใหม่ การระดมทุนในรูปแบบ crowd funding และการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ผ่านตัวกลาง หรือ P2P เป็นต้น

“นวัตกรรมทางด้านการเงินใหม่ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการบริการทางการเงินใหม่ที่จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในอาเซียนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งอนาคตได้เพิ่มมากขึ้น การใช้ประโยชน์จากโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลที่จะทำให้การค้าภายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด”