เวทีซัมมิทไทยได้หลายเด้ง

02 พ.ย. 2562 | 03:00 น.

สภาอุตฯ-ASEAN BAC-พาณิชย์ ประสานเสียง ไทยเจ้าภาพอาเซียนซัมมิทพ่วงถกคู่เจรจา ส่งผลดีหลายเด้ง ทั้งสร้างภาพลักษณ์ประเทศ ผู้นำไทยได้โชว์วิสัยทัศน์ไปทั่วโลก ภาคธุรกิจได้ประโยชน์นำข้อมูลไปปรับตัวรับมือยุค 4.0 ถกคู่เจรจาขยายความร่วมมือเพิ่ม

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิท)ครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 ก่อนส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานให้กับเวียดนามที่จะเป็นประธานในปีหน้า (2563) หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า การประชุมที่จะมีผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และผู้นำระดับโลกที่เป็นคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ รัสเซีย)ได้มาชุมนุมกันอยู่ในประเทศไทย และรัฐบาลต้องประกาศให้วันที่ 4-5 พฤศจิกายนให้เป็นวันหยุดมีความสำคัญอย่างไร และประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในครั้งนี้อย่างไรบ้างนั้น

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อันดับแรกที่ไทยจะได้คือ ในฐานะประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้ หากจัดได้ดีอย่างมืออาชีพ จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศในสายตาชาวโลก 2.ในฐานะเจ้าภาพมีสิทธิ-มีเสียงในการกำหนดหรือนำเสนอประเด็นสำคัญในการหารือในแต่ละเวที 3. ในฐานะประธานอาเซียน ผู้นำไทยสามารถใช้โอกาสนี้แสดงวิสัยทัศน์ในแต่ละเวที และ 4. มีสื่อไทยและสื่อต่างชาติทั่วโลกเข้าร่วมทำข่าวหลายพันคน ช่วยดึงความสนใจ หรือฉายสปอตไลต์มายังประเทศไทย

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะที่รับผิดชอบการเจรจาเสาหลักด้านเศรษฐกิจ การประชุมผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้มีโอกาสนำเสนอความก้าวหน้าใน 3 ด้าน รวม 13 ประเด็นที่ไทยได้ตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้สมาชิก 10 ประเทศช่วยกันขับเคลื่อนให้สำเร็จภายในปี 2562 อาทิ ด้านการเตรียมพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เช่น การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบการวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4, การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ในเวทีการประชุมที่เกี่ยวข้องหลายเวที เช่น เวทีประชุมผู้นำอาเซียน-จีนทางรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เตรียมประเด็นให้ผู้นำอาเซียนหารือกับจีนเรื่องการยกระดับ(อัพเกรด)ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ที่ปัจจุบันยังมีรายการสินค้าสัดส่วนราว 10% ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันยังมีภาษีนำเข้าระหว่างกันอยู่ระหว่าง 0.1-50% ซึ่งหากมีการเจรจาและบรรลุข้อตกลงได้จะช่วยให้การค้าไทย-จีน และอาเซียน-จีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

เวทีอาเซียน-สหรัฐฯประเด็นหารือเรื่องการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ), การค้าดิจิทัล และการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯต่ออาเซียนในเรื่องการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง และการค้าอาเซียนกับนอกกลุ่มมีความสะดวกมากขึ้น

 

นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) กล่าวว่า ในการจัดงานการประชุม ASEAN Business and Investment Summit (ABIS) ซึ่งเป็นเวทีของภาคเอกชนคู่ขนานอาเซียนซัมมิทใน วันที่ 2-3 พฤศจิกายน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม ขณะที่มีผู้นำหลายชาติที่ตอบรับเข้าร่วมงาน และจะขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์แล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา รัสเซีย และนิวซีแลนด์ ส่วนผู้นำฟิลิปปินส์จะเข้าร่วมและจะไม่ขึ้นเวที

 

สาระสำคัญส่วนใหญ่ที่คาดผู้นำจะแสดงวิสัยทัศน์ เช่น แนวคิดด้านต่างๆ พูดถึงเหตุการณ์บ้านเมือง เหตุการณ์โลก พูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นต้น ทั้งนี้จากวิสัยทัศน์ผู้นำ และการประชุมหารือกันของผู้นำภาคเอกชน ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือ ภาคธุรกิจที่เข้าร่วมจะได้นำข้อมูลไปปรับใช้กับธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขณะที่ภาคเอกชนจะร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นด้านต่างๆ ไปยังผู้นำ เช่น ไม่เอาสงครามการค้า เป็นต้น 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562