สิ้น"ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์" นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ เจ้าของแนวคิด "Chira Way"

04 ม.ค. 2564 | 07:15 น.

สิ้น"ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์" นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ เจ้าของแนวคิด "Chira Way"เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ม.ค.64

 

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.64 ที่ผ่านมา ศ.วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Professor Vicha Mahakun" แสดงความอาลัยต่อการสูญเสีย "ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์"  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ  ทรัพยากรบุคคลที่สำคัญท่านหนึ่งของแผ่นหนึ่ง โดยระบุว่า 

 

เช้าวันนี้ ( 2 ม.ค.2564) เป็นวันที่คนไทยและประเทศไทยต้องสูญเสีย ‘ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์’ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่งท่านหนึ่งของแผ่นดิน ไปอย่างไม่มีวันกลับ ตลอดชีวิตของท่าน นับได้ว่าท่านเป็นผู้เสียสละความสุขทุกอย่างของตน เพื่อทดแทนคุณให้แก่แผ่นดิน ท่านเป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ ที่มีแต่ความปรารถนาดี โดยไม่มีข้อแม้ใดๆให้แก่ผู้เขียนตลอดมา เมื่อผู้เขียนขอให้ท่านเข้ามาช่วยฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนวางระบบการบริหารงานบุคคลในรูปแบบสากล ของสำนักงาน ป.ป.ช.  ท่านก็เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานอย่างเข้มแข็ง จนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนทั่วไป

 

ต่อมาภายหลัง ผู้เขียนกับคณะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามทุจริตของป.ป.ช.ได้ร่วมกันจัดตั้ง ’มูลนิธิต่อต้านการทุจริต’ และริเริ่มก่อตั้ง ‘หมู่บ้านช่อสะอาด’ เพื่อเป็นต้นแบบของชุมชนสุจริตทุกจังหวัดทั่วประเทศ ท่านก็ให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ด้วยแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์  ในด้านคุณธรรม จริยธรรม อันล้ำเลิศที่ท่านถ่ายทอดให้ผู้เขียนทุกครั้งที่ได้พบกัน 
ที่สุดท่านในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เสนอให้ผู้เขียนได้รับพระราชทานปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2556 ซึ่งเป็นเกียรติอันสูงยิ่งที่ผู้เขียนจักไม่ลืมเลือนตราบชั่วชีวิต

 

ขอความดีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมอบไว้ให้แก่แผ่นดินไทย จงเป็นดุจดวงประทีปส่องทาง ให้แก่เยาวชนไทยทั้งหลาย และเป็นดั่งแสงนำทางให้ดวงวิญญาณของท่านสถิตเสถียร ณ สรวงสวรรค์ในสัมปรายภพ อันสุขสงบตราบนิรันดร์

 

ประวัติ "ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์" เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 เป็นบุตรของ นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ ท่านผู้หญิงลำเจียก หงส์ลดารมภ์ เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ จากนั้นได้รับทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวิคตอเรียประเทศนิวซีแลนด์ และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทอีก 2 สาขา คือ สาขานโยบายรัฐ และสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

 

หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทแล้วด้วย (ทุนโคลัมโบและทุนร็อกกี้เฟลเลอร์) ศ.ดร.จีระ  ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  เป็นอธิการบดี และต่อมาได้รับทุนร๊อคกี้เฟลเลอร์ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก ศ.ดร.จีระ กลับมาเป็น  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ศ.ดร.จีระ   มีโอกาสได้เป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งสถาบันทรัพยากรมนุษย์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์นิคม จันทรวิฑูรย์ และศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย และกลุ่มนักวิชาการอีกหลายท่านร่วมเป็นแกนนำสำคัญโดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่  จากศาสตราจารย์ประภาศน์ อวยชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น

 

ด้วยผลงานเป็นที่ยอมรับ แม้ในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ ยังได้รับเลือกให้รับตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยที่คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี ผ่านพ้นอุปสรรคมากมายในที่สุดก็จัดตั้งสถาบันทรัพยากรมนุษย์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ และ  ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์คนแรกและอยู่ในวาระต่อเนื่อง รวม 4 สมัยเป็นเวลากว่า 18 ปี จนสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยเฉพาะในวงการวิชาการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

 

หลังหมดวาระการเป็นผู้อำนวยการที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.จีระ ยังคงมีความมุ่งมั่นทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำงานในระดับประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ” ขึ้น และดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิฯ มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็พัฒนา Chira Academy เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในมิติต่าง ๆ ด้านการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และ "สื่อ" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและสังคมด้วย​

 

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานในนามของเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และประธาน Chira Academy ศ.ดร.จีระ มุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่สังคมในวงกว้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทางการทูตภาคประชาชน และการจัดกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ที่มุ่งสร้างสรรค์ให้คนไทยและสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้​

 

นอกจากได้รับยกย่องให้เป็นกูรูในด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ในสังคมและเวทีระหว่างประเทศ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการยอมรับและคัดเลือกจากตัวแทนประเทศสมาชิกเอเปก 21 ประเทศให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ของเอเปก ในช่วงปี ค.ศ. 2002 - 2004

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล  https://www.chiraacademy.com/chira-way