“สนค.”เดินหน้าผุด 2 ดัชนีใหม่ หวังใช้วัดความเชื่อมั่นภาคบริการ

10 มิ.ย. 2564 | 05:33 น.

สนค. เดินหน้าจัดทำ 2 ดัชนีใหม่ “ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ ใช้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาของค่าบริการ เพื่อรู้ทิศทางธุรกิจบริการ ปัญหาและอุปสรรคได้ เตรียมทำเป็นรายไตรมาส

  นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานที่เจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยได้เริ่มจัดทำดัชนีใหม่ 2 ดัชนี คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ (Consumer Price Index Service : CPI Service) ซึ่งสามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าบริการได้เฉพาะเจาะจงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และน่าจะเป็นเครื่องชี้วัดที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นความเคลื่อนไหวของค่าบริการได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้จ่ายและวางแผนดำเนินชีวิต และยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

“สนค.”เดินหน้าผุด 2 ดัชนีใหม่  หวังใช้วัดความเชื่อมั่นภาคบริการ

          ส่วนอีกดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ (Business Confidence Index Service : BCI Service) เป็นดัชนีใหม่ที่ สนค. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จะทำให้ทราบถึงทิศทาง แนวโน้ม และการเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่ภาคธุรกิจบริการกำลังเผชิญอยู่       

 

 

   “สนค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าดัชนีเหล่านี้จะเป็นดัชนีทางเลือกที่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของผู้ใช้งานดียิ่งขึ้น และยังสามารถเป็นข้อมูลให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย และมาตรการในการดูแลค่าบริการ และผู้ประกอบการภาคบริการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ดัชนีนี้ มีกำหนดเผยแพร่ข้อมูลเป็นรายไตรมาส ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564” นายภูสิตกล่าว

          สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการค่าบริการจากตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ปีฐาน 2562 ซึ่งมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีทั้งสิ้นจำนวน 87 รายการ คิดเป็นร้อยละ 20.23 จาก 430 รายการสินค้าและบริการในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไป มีการจัดหมวดหมู่ตามโครงสร้างรหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC) จำแนกเป็น 14 หมวด โดยหมวดที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หมวดกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ที่ร้อยละ 54.93 ตามด้วยหมวดข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ร้อยละ 15.88 หมวดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ร้อยละ 6.94 หมวดกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน ร้อยละ 6.55 และหมวดการศึกษา ร้อยละ 4.22 ตามลำดับ

 

  ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคบริการที่มีต่อธุรกิจของตนเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นประจำทุกปี อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รายรับ และสินค้าคงเหลือ รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจ