เปิดใจโต้ทุกครหาขายยางสต็อก

06 พ.ค. 2564 | 09:50 น.

ปธ.บอร์ด-ผู้ว่าการ กยท. ประสานเสียงโต้ทุกครหาขายยางสต็อก โปร่งใส่ นำบทเรียนที่ผิดพลาดในอดีต ยันทำเพื่อประโยชน์เกษตรกร-รัฐ แท้จริง

สืบเนื่องจาก กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่รวบงานประมูลยางดังกล่าวมาดูแลแทนกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้อำนาจตาม ม.11(6) ของ พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็ว

 

ประพันธ์ บุญยเกียรติ

 

นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าไม่มีอะไรหนักใจ กยท.ทำทุกอย่างมีขั้นตอน แล้วในแต่ละข้อมีคำอธิบายทั้งหมดถึงเหตุผลและที่มาทั้งหมดเลย ถึงตัดสินใจออกมาเป็นทีโออาร์อย่างที่เห็น เพราะไม่อยากให้มีการเบี้ยวสัญญา ซ้ำรอยอดีตทีผ่านมา ที่สร้างปัญหาให้รัฐและกยท.เสียหาย และทำไมถึงเลือกเฉพาะคนที่เคยซื้อยาง เพราะคิดว่าหากนำผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา ไม่รู้จักสภาพยาง คุณภาพยาง จะเป็นเรื่องที่ไม่จบ เพราะช่วงยางปิดกรีดมีระยะเวลาแค่นี้ ส่วนเหตุผลที่สำคัญที่สุด วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หากไม่ขายยางล็อตนี้เราจะต้องจ่ายค่าเช่าโกดังอีกกว่า 132 ล้านบาท ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้จบตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

เช่นเดียวกับนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดี ที่มีคนคอยดูมี การให้ข้อสังเกต อาจจะเห็นผมทำอะไรผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตามผมยังมั่นใจว่าประเด็นที่ยกกล่าวอ้างขึ้นมามีวิธีคิด และทำอย่างโปร่งใส และทุกอย่างก็มีหลักในการคิดอยู่แล้ว ไม่ได้มาจากการเอื้อประโยชน์ให้ใครอยู่แล้ว และไม่ได้ล็อกสเปก แต่อย่างใด

 

ส่วนในการตั้งข้อสังเกตก็ไม่ผิด แต่ในมุมของ กยท. เราเคยมีบทเรียน และประเด็นทั้งหมดเกิดจากปัญหาความผิดพลาดจากการทำงานครั้งที่ผ่านมา ในการร่างทีโออาร์ครั้งนี้เรานำประเด็นจากประสบการณ์การทำงานครั้งที่ผ่านมาเป็นการกำหนดคุณสมบัติในครั้งนี้ ซึ่งทุกเรื่องมีเหตุผลทั้งหมด

 

ยกตัวอย่างครั้งที่แล้ว กยท.เปิดกว้าง ส่งผลให้ที่ไม่ใช่ผู้ใช้เข้ามาประมูล อาจจะเป็นเทรดเดอร์ซื้อไป ก็มีการนำยางในสต็อกมาเวียนขายในนตลาด ผมก็มองว่าจะทำให้ตลาดมีผลกระทบ แล้วเกิดผลเสียมากกว่าผลดี นี่แหละจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม กยท.ถึงสนใจที่อยากได้คนที่เคยซื้อจริงๆ  คือเราพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรให้มากที่สุด การทำให้เร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิต ไม่ให้กระทบกับราคา จึงอยากได้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้ยางจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ กยท.และรัฐเสียเวลา และเสียโอกาส จึงมีการตัดสินใจทำเรื่องดังกล่าวในรูปแบบนี้

 

นายณกรณ์ กล่าวว่า ส่วนข้อกล่าวหาที่บอร์ดการยางแห่งประเทศไทย อนุมัติให้เอกชนกู้เงินไปได้จำนวน 1,200 ล้านบาท นั้นไม่เป็นความจริง ไม่เคยมีเลย มีแต่ปล่อยกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร ยังไม่เคยปล่อยกู้ให้เอกชนเลย แม้ว่าตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ พ.ศ. 2558 กยท.จะต้องดูแลทั้งผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร