กทพ.หนุนขยาย ดอนเมืองเฟส3 รับไฮสปีดเชื่อม3สนามปี66

04 พ.ค. 2564 | 19:30 น.

กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เดินหน้าโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 หรือก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แห่งที่ 3 วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดประมูลภายในเดือนกันยายน 2564 บริเวณอาคารภายในประเทศหลังเดิมที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานเพื่อรองรับการเดินทางนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในอนาคตหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายนั้น

 

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ในเชิงนโยบาย มองว่าดีเพราะปัจุจบันมีท่าอากาศยาน  3 แห่ง ที่ขยายเพิ่มเติมรองรับการเดินทางประกอบด้วย ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่ากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทั้ง 3 สนามบินเพราะถือว่ามีศักยภาพสูงภายในประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการเที่ยวบินให้เหมาะสมสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น และการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้วย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะ (Domestic) ที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่พอใจที่ใช้บริการท่าอากาศยานฯ นี้ โดยที่ผ่านมาก่อนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการนั้น ในช่วงปี 2562 ถูกใช้บริการเป็นจำนวนมากตามความต้องการของประชาชนในประเทศ ซึ่งแนวทางที่ทอท.จะพัฒนานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่จะต้องพัฒนาให้เต็มศักยภาพได้ตามแผน ทั้งนี้การพัฒนาท่าอากาศยานนั้นต้องคำนึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนด้วย”

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดรอบ 3 นั้น กพท.ประเมินว่าที่ผ่านมาเที่ยวบินภายในประเทศกำลังจะดีขึ้น รวมทั้งเที่ยวบินต่างประเทศที่รัฐบาลเริ่มใช้แผนการเปิดประเทศโดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก และดำเนินการการเปิดเที่ยวบินในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไป  ซึ่งมีท่าอากาศยานบางแห่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เดินทางเข้าภายในประเทศได้ 

“ขณะเดียวกันหากดูจากการกำหนดระยะเวลาเข้า-ออกของสายการบิน (Timeslot) ที่ทำการจองเที่ยวบินถือว่ายังเร็วไปที่จะประเมิน เพราะเรายังไม่ได้สอบถามสายการบินต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง เนื่องจากบางจังหวัดเข้มงวดด้านการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น อาจทำให้ประชาชนต้องยกเลิกการเดินทางไปก่อน เบื้องต้นกพท.จะประสานกับสายการบินต่างๆ ว่ามีแผนเพิ่ม-ลดเที่ยวบินอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เราประเมินว่าปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานดอนเมืองจะกลับมาฟื้นตัวได้คึกคักเหมือนในช่วงปี 2562 นั้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งหยุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 

โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาคงที่ หากมาตรการด้านสาธารสุขสามารถควบคุมได้ดี จะทำให้เที่ยวบินภายในประเทศกลับมาดีขึ้น ส่วนประเทศที่หยุดชะงักด้านการท่องเที่ยวอย่างไทย จะเริ่มนำวัคซีนพาสปอตเข้ามาใช้งาน โดยปัจจุบันหลายประเทศยอมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว สามารถเดินทางเข้ามาภายในประเทศได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเช่นกัน”

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564