9 เส้นทางรถไฟทั่วกรุง-หัวเมืองใหญ่ 5 แสนล้านฉลุย

04 พ.ค. 2564 | 18:05 น.

รฟม.เผยคืบหน้าสายสีส้ม เตรียมชงบอร์ดม.36 เคาะร่างทีโออาร์เปิดประมูล ด้านสายสีม่วงใต้ยืนยันได้ข้อสรุปเวนคืนที่ดินตึกแถวใกล้วัดเอี่ยมวรนุช ขณะที่สายสีน้ำตาลเร่งออกแบบฐานรากตอม่อร่วมกทพ. ฟากบีทีเอสเดินหน้าสายสีชมพู-เหลือง เป็นไปตามแผน เล็งทยอยเปิดให้บริการปลายปีนี้-ต้นปี 2565  

 

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไม่นานมานี้ รับทราบ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามปีงบประมาณ 2563 โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ 9 เส้นทาง มูลค่า 496440 ล้านบาท มีความก้าวหน้าตามแผนทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและ โครงการที่เตรียมความพร้อมประมูลหาผู้รับจ้าง 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน1.4 แสนล้านบาท หลังจาก รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็นเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำร่างเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ หรือ RFP ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการทั่วไปในประเด็นต่างๆ เช่น เงื่อนไขการประกวดราคา การแบ่งซองข้อเสนอ รวมถึงการคำนวณคะแนนข้อเสนอเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะว่าควรเป็นอย่างไรนั้น เบื้องต้นรฟม.จะรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการมาตรา 36 ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนการก่อสร้างโครงการฯ ปัจจุบันมีความคืบหน้าราว 70-80% เป็นไปตามแผน ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง ทำให้รฟม.ได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากขาดแรงงานรับเหมาก่อสร้างและการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทำให้ล่าช้าออกไป ทั้งนี้รฟม.จะปรับแผนการก่อสร้างฯกระทบต่อการเปิดให้บริการน้อยที่สุด คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2567 

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน  1.01 แสนล้านบาท หลังจากที่รฟม.มีประเด็นกรณีที่รื้อวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อก่อสร้างทางขึ้น-ลง ของสถานีบางขุนพรหม โดยรฟม. ลงพื้นที่ ปักหมุดแนวเขตพื้นที่เวนคืนนั้น ล่าสุดรฟม.ได้ประสานงานกับวัดเอี่ยมวรนุช ซึ่งได้ข้อสรุปแล้ว เบื้องต้นรฟม.จะใช้พื้นที่บริเวณตึกแถวหัวมุมของวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากทางวัดเอี่ยมวรนุชเห็นว่าหลังจากพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินมีผลบังคับใช้ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวราว 100-200 เมตร ต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินทั้งหมด ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น ทั้งนี้ช่วงที่รฟม.จะดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยประสานงานกับวัดเอี่ยมวรนุชอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางป้องกันกรณีขุดเจาะระหว่างการก่อสร้างไม่ให้กระทบต่อวัดเอี่ยมวรนุช ทั้งนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคาและสำรวจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งรฟม.ตั้งเป้าว่าจะเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2564 และเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2570

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรฟม.อยู่ระหว่างประสานงานร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการประมูลการก่อสร้างฐานรากของโครงการฯ ร่วมกัน เนื่องจากมีตอม่อในพื้นที่บางส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจำเป็นต้องใช้ฐานรากร่วมกันกับการการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 บริเวณถนนลาดปลาเค้า-นวมินทร์ เบื้องต้นกทพ.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติดำเนินการออกแบบฐานรากร่วมกันระหว่าง 2 โครงการ  ขณะเดียวกันรฟม.จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ของโครงการฯ ภายในไตรมาส 3 ปี 2564 คาดใช้เวลาดำเนินการศึกษาราว 6 เดือน   

ส่วนการศึกษาทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เบื้องต้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)  กล่าวว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 50,970.63  ล้านบาท ยังเป็นไปตามแผน คาดว่าจะเปิดให้บริการบางช่วงมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ภายในต้นปี 2565 หลังจากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการช่วงอื่นๆ ต่อไป ส่วนการรับขบวนรถไฟฟ้าดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,230 ล้านบาท ตามแผนรฟม.ต้องส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ราว 36 เดือน และจะเริ่มก่อสร้างทันที ระหว่างนี้บริษัทเตรียมรายละเอียดการก่อสร้างและผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ หากพื้นที่พร้อม ทางบริษัทจะดำเนินการเข้าพื้นที่ทันที โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง  ระยะทาง 30.40 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 48,125  ล้านบาท ตามแผนพยายามจะเปิดให้บริการบางช่วง สำโรง-ลาดพร้าว ภายในเดือนธันวาคม 2564  

9 เส้นทางรถไฟทั่วกรุง-หัวเมืองใหญ่ 5 แสนล้านฉลุย

รายงานข่าวจากรฟม. กล่าวต่อว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ ทั้งนี้การเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้าร้อยละ 30 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571  ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) วงเงิน 7,115 ล้านบาท ที่ผ่านมามีการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ของภาคเอกชน (กลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ) ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง (แทรม) วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้นำเสนอการศึกษาเบื้องต้นของเทคโนโลยีรถไฟฟ้าประกอบด้วย 3 รูปแบบคือ รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็กรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง และระบบ ART (Autonomous Rapid Transit) ให้แก่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟม. พิจารณาภาพรวมการคำนวณค่าโดยสาร ที่ รฟม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ในเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งต้องมีอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระกับประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ในขณะที่ต้องสามารถ จูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้  รวมทั้งขั้นตอนการก่อสร้าง ให้ รฟม. พิจารณาใช้เทคนิคการก่อสร้างที่ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร เนื่องจากตามแนวเส้นทางของโครงการฯ จะผ่านบริเวณที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่น คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2569 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564