กู้เงินฟื้นเศรษฐกิจ ทางออกรัฐบาล

26 เม.ย. 2564 | 18:05 น.

 

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ปะทุขึ้น อีกครั้งเป็นรอบที่สาม ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งครั้งนี้ ความรุนแรงดูเหมือนจะมากกว่า 2 รอบที่ผ่านมา ทั้งจากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อเกินกว่า 1,000 คนต่อวันต่อเนื่องมาหลายวัน การกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งหากเทียบกับรอบแรก ที่การระบาดเกิดจากสนามมวย ภาครัฐใช้วิธีล็อกดาวน์ประเทศนาน 3 เดือน ซึ่งครั้งนั้นถือว่าเจ็บ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง รายได้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนหายไป แต่ก็จบเร็ว

ขณะที่รอบสอง การระบาดเกิดจากการลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าผิดกฎหมาย จากบทเรียนที่เจ็บหนักรอบแรก ภาครัฐจึงใช้วิธีล็อกดาวน์บางส่วน ในพื้นที่ที่ติดเชื้อมาก ทำให้การแพร่ระบาดจำกัดขอบเขตได้ ซึ่งระยะเวลาอาจจะกินเวลานานกว่ารอบแรก และทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงและผู้คนเริ่มมีความหวัง หลังจากรัฐบาลนำเข้าวัคซีนล็อตแรกเข้ามาและเริ่มมีการกระจายฉีดให้กับบุคลากรทางแพทย์และในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อมาก ทำให้ผู้คนอาจจะหลงลืมและการ์ดตก ทำให้การระบาดของโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง

การระบาดรอบนี้เกิดจากสถานบันเทิง กลุ่มผู้แพร่เชื้อเป็นกลุ่มคนทำงาน พนักงานออฟฟิศ และเชื้อเป็นสายพันธุ์อังกฤษที่ติดง่าย การระบาดกำลังกระจายไปหลายกลุ่มอาชีพและหลายสถานที่ แต่ภาครัฐกลับยังคงพิจารณาใช้วิธีล็อกดาวน์บางส่วน และใช้การประเมินยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะยอดผู้ติดเชื้อยังไม่นิ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดรอบนี้กระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการและประชาชน และความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า หากการระบาดรอบใหม่ยังลุกลามยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยเดือนละ 0.5% หากปล่อยให้ยาวนานถึง 3 เดือน จะกระทบต่อจีดีพีถึง 1.5% จากเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังทั้งปีที่ 4% ก็ดูเหมือนจะยากขึ้น สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาสที่ปรับลดประมาณการเติบโตจีดีพีไทยปีนี้เหลือแค่ 3%

อย่างไรก็ตาม การจะประคองไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องดิ่งลงลึกตามระยะเวลาการระบาดของโควิดรอบใหม่นี้ สิ่งสำคัญคือมาตรการรัฐที่จะต้องออกมาทันท่วงที เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการที่ยังประคองกำลังซื้อในประเทศของรัฐบาลขณะนี้คือ โครงการ ม.33เรารักกัน และ โครงการ เราชนะ ที่สามารถใช้วงเงินได้ถึง 30 พฤษภาคม ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำได้เร่งด่วนคือ การขยายเวลา โครงการ เราชนะ ออกไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ไปก่อน เพื่อรอผลยอดจำนวนผู้ติดเชื้อจะนิ่งเมื่อไหร่ พร้อมๆ กับดูงบประมาณในมือว่าเหลือเพียงพอที่จะดำเนินการอะไรได้แค่ไหน

กู้เงินฟื้นเศรษฐกิจ ทางออกรัฐบาล กู้เงินฟื้นเศรษฐกิจ ทางออกรัฐบาล

หลังการระบาดโควิด-19 รอบแรก รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการสำหรับกู้เงินแล้ว 7.6 แสนล้านบาท ยังคงเหลือเงินกู้ที่จะใช้ได้อีก 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากเงินกู้ดังกล่าวแล้ว ยังมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายปี 2564 งบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายไปเพียง 500 ล้านบาทหรือ 0.5% เท่านั้นและงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3,200 ล้านบาท หรือ 8% ถ้ารวมๆ แล้วก็ยังเหลือเม็ดเงินประมาณ 3.8 แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้ครั้งนี้

การใช้เงินเพื่อการรับมือกับโควิด-19 รัฐบาลต้องการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทให้หมดไปก่อน เพราะมีเวลากู้ถึง 30 กันยายน 2564 เท่านั้น ซึ่งในวงเงินดังกล่าว ถูกกันไว้เพื่อใช้ในแผนงานสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงการจัดหาวัคซีนด้วย ล่าสุดอนุมัติวงเงินไปแล้ว 43.77% แต่งบส่วนนี้ไม่สามารถโยกไปใช้เพื่อการอื่นได้

ขณะที่เงินก้อนใหญ่ 5.5 แสนล้านบาทจะใช้เพื่อการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐทั้งโครงการ เราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเยียวยาเกษตรกร โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง โครงการเยียวยาผู้ประกันตนตามม.33 ทำให้มีการใช้เงินเต็ม 5.5 แสนล้านบาทและได้ดึงเงินเพิ่มจากส่วนที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจมา 1 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดอนุมัติเกือบเต็มวงเงินส่วนนี้ไปแล้ว จึงเชื่อว่า จะต้องมีการดึงเงินเข้าเพิ่มอีกเรื่อยๆ

เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เคยตั้งไว้ 4 แสนล้านบาทจึงเหลือ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งหลังสถานการณ์โควิด-19 คลีคลายลง รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ทำให้มีเงินเข้าไปในระบบกว่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากเงินส่วนนี้ถูกดึงไปใช้เพื่อการเยียวยาจนหมด และรัฐบาลไม่เหลือวงเงินที่จะมาให้เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก จึงเชื่อว่า จะต้องมีการจัดหาวงเงินใหม่

การออกพ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อกระตุ้นศรษฐกิจอีกก้อน จึงไม่น่าจะเกินความคาดหมาย

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,673 หน้า 8 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564