ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เหตุกังวลโควิดรอบใหม่-การเมืองไม่นิ่ง

08 เม.ย. 2564 | 06:31 น.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.อยู่ที่ 48.5 ลดลงจากเดือนก.พ.64 ซึ่งอยู่ที่ 49.4  ชี้ การแพร่ระบาด ย่านทองหล่อ  ทำให้การบริโภคประชาชนภาพรวมหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดึชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2564 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,249 คน  พบว่าอยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง  เหตุกังวลโควิดรอบใหม่-การเมืองไม่นิ่ง

"สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมี.ค.ลดลง เป็นผลจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ทั้งในสภา และนอกสภา"

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 42.5 จาก 43.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.3 จาก 46.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 57.7 จาก 58.7  ส่วนการสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภค  เช่น  การซื้อรถคันใหม่ อยู่ที่ 46.2  การซื้อบ้านหลังใหม่ อยู่ที่  29.9  การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว  อยู่ที่  40.8  การลงทุนธุรกิจ อยู่ที่  19.7  โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำซึ่งสะท้อนว่าประชาชนยังกังวลการจ่ายใช้จากปัญหาโควิดที่เกิดขึ้น 

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง  เหตุกังวลโควิดรอบใหม่-การเมืองไม่นิ่ง

สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้า ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทาธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2564 สู่ระดับ 3.0 % จากที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา

ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการเราชนะ โครงการรารักกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ แม้การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจะยังไม่ได้รวมการแพร่ระบาดล่าสุด  จากการติดตามมองว่าจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น  จะส่งผลให้การจับจ่าย  การบริโภคในภาพรวมของผู้บริโภคจะลดลง 5-10%  หรือมูลค่าใช้จ่ายที่หายไปประมาณ  30,000-50,000  ล้านบาท  เนื่องจากประชาชนกังวลมากขึ้น ชะลอการใช้จ่าย  โดยคาดหวังว่าจากการแพร่ระบาดครั้งนี้  จะสามารถควบคุมได้ภายใน 1-2 เดือนจากนี้