"รถไฟฟ้าต่อขยายสายสีเหลือง" EIA ผ่านฉลุย

25 ม.ค. 2564 | 13:38 น.

บอร์ดสิ่งแวดล้อมไฟเขียว อีไอเอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา - ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ด้านรฟม.เตรียมเจรจา BTS-BEM หลังติดปัญหาสัญญาร่วมทุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา - ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ เป็นข้อเสนอในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ของ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน โดยจากผลการศึกษาความเหมาะสมฯ พบว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและการให้บริการรถไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ในการรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักได้มากถึง 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางบนแนวถนนรัชดาภิเษกที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่ง เป็นต้น

 

 

ขณะเดียวกันในปัจจุบัน รฟม. และ EBM อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุน โดยเมื่อการเจรจา ได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว รฟม. จะดำเนินการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการฯ นี้ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจาก รฟม. ยังติดการเจรจากับ EBM เรื่องการชดเชยให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT กรณีที่การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่งผลกระทบต่อรายได้และผู้โดยสารของ MRT สายสีน้ำเงิน ขณะเดียวกันบีทีเอสได้ยืนยันว่าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 2.6 กม. จากสถานีลาดพร้าว-รัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับสถานีพหลโยธินของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนเองเต็ม 100% ซึ่งมีค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนราว 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม รฟม.เคยให้บีทีเอสพิจารณาทบทวนถึงการต่อขยายสายสีเหลือง ที่จะต้องชดเชยให้แก่ BEM หากได้รับผลกระทบ ซึ่งบีทีเอสยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นคู่สัญญาของ BEM ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รฟม.ที่จะพิจารณาในฐานะที่เป็นคู่สัญญา หากข้อเสนอนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ก็ไม่เป็นไร เพราะประโยชน์ในครั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการ