กรรมการแข่งขันโชว์ผลงานปี 63 สั่งลงโทษ 3 คดีใหญ่

22 ม.ค. 2564 | 10:37 น.

กขค. ชูผลงานปี 63 สร้างมาตรฐานการค้าและความเป็นธรรมการแข่งขัน    สั่งลงโทษ3คดีใหญ่ ลั่นปี 64 เล็งออกไกด์ไลน์ เครดิตเทอมที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายการทำงานของ กขค. เป็นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19รูปแบบนวัตกรรมผนวกกับเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านรูปแบบและกิจกรรมทางการตลาด ตัวอย่างเช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างก้าวกระโดดทำให้ กขค.ต้องให้ความสนใจธุรกิจดังกล่าวเป็นพิเศษ

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

กขค. ได้จัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไกด์ไลน์ เพื่อเป็นการป้องปรามและสร้างมาตรฐานทางการค้าให้มีธรรมาภิบาล โดยที่ผ่านมาได้จัดทำไกด์ไลน์ ซี่งมีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม และล่าสุด ไกด์ไลน์ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือ ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ เพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารดังกล่าวให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

ในส่วนงานด้านการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฏหมาย ในปี 2563  มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีจำนวนมากถึง 41 เรื่อง เป็นเรื่องที่คงค้างจากปี 2561 จำนวน 4 เรื่อง และคงค้างจากปี 2562 จำนวน 8 เรื่อง ได้พิจารณาเสร็จแล้ว 23 เรื่อง ซึ่งกขค. พิจารณาว่ามีความผิดและลงโทษปรับทางปกครองจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ กรณีผู้ประกอบธุรกิจศูนย์การค้ากีดกันการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรณีบริษัทธุรกิจท่าข้ามกำหนดเงื่อนไขอันส่งผลเสียหายกับบริษัทขนถ่ายสินค้า และกรณีบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายรถแทรกเตอร์มีพฤติกรรมกทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้แทนจำหน่าย ส่วนที่เหลือ ได้ส่งให้อัยการยุติเรื่อง 20 เรื่อง และสอบสวนเพิ่มเติม 18 เรื่อง ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ สำหรับประเภทธุรกิจที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 2 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจขนส่งพัสดุ ตามด้วยธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจการเกษตร

 

  นอกจากนี้ กขค. ยังได้มีการพิจารณาการควบรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน โดยได้อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจจำนวน 3 ราย 1 รายเป็นการรวมธุรกิจตลาดค้าปลีกกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดย กขค. เสียงข้างมากอนุญาตแบบมีเงื่อนไข และอีก 2 ราย เป็นควบรวมธุรกิจแบบไม่มีเงื่อนไข ได้แก่ ธุรกิจตลาดผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และธุรกิจตลาดรถบรรทุกขนาดใหญ่และขนาดกลาง

  ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กขค. ได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยในประเทศมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสทช. ด้านการกำกับดูแลแข่งขันทางการค้าในธุรกิจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และยังจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแข่งขันทางการค้ากับสถาบันการศึกษา 13 แห่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าให้เยาวชนรุ่นใหม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ในปี 2563 ได้จัดทำโครงการความร่วมมือด้านนโยบายและกฏหมายการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างโออีซีดี และอาเซียนด้านการประเมินการแข่งขันทางการค้า โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปกฏระเบียบและนโยบายด้านโลจิสติกส์ให้ส่งเสริมการแข่งขัน โครงการความร่วมมือทางเทคนิคกับมูลนิธิเอเชีย และองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าออสเตรเลีย เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและจัดทำตัวชี้วัดการแข่งขันทางการค้าระดับจังหวัด

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเกิดสภาพคล่องในการหมุนเวียนกระแสเงินสด (Cash Flow) และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้รับมอบหมายจากศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการดำเนินการ คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) สำหรับธุรกิจ SMEs ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งคาดว่าร่างดังกล่าวจะนำเสนอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อร่างแนวทางพิจารณาฯ (Public Hearing) ผ่านช่องทางต่างๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และหลังจากนั้นจะได้มีการประกาศใช้ต่อไป