สรท.มั่นใจส่งออกไทยปีหน้า ขยายตัวที่3-5%

08 ธ.ค. 2563 | 08:38 น.

สรท. คาดส่งออกปี 64  ขยายตัว3-5% ตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นประกอบกับมีวิคซีนป้องกันโควิด-19  ออกมาหลายบริษัท น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับการค้าโลกได้

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกไทยว่า ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ต.ค. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 192,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 169,702 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 14.61 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- ต.ค. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 22,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – ต.ค. การส่งออกขยายตัวร้อยละ -8.47)

สรท.มั่นใจส่งออกไทยปีหน้า  ขยายตัวที่3-5%

 

ทั้งนี้ สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 ติดลบ6-7% และคาดการณ์ ปี 2564 ขยายตัว 3-5% (ณ ธันวาคม 2563) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ ไทยร่วมลงนามไทยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ส่งออกด้วยรวมถึงการเจรจาในกรอบความตกลงใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทย  ,ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากหลายบริษัท อาทิ บริษัทโมเดอร์นา และบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมมือกับไบโอเอ็นเทค ซึ่งมีประสิทธิผลมากกว่า90% ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับการเจรจาการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมา 

 

 

 

สรท.มั่นใจส่งออกไทยปีหน้า  ขยายตัวที่3-5%

 

นอกจากนี้สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย  รวมถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศจีน จากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและเป็นผลดีต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เป็นต้น  

 

ส่วนปัจจัยลบในปีหน้า เช่น ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง,ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น,การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม และผลจากการบังคับใช้ความตกลง EVFTA เป็นปัจจัยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตเพื่อการกระจายความเสี่ยง เป็นต้น